Your browser doesn’t support HTML5
ผลการสำรวจโรงเรียนระดับมัธยมต้นและมัธยมปลายในสหรัฐฯ มากกว่า 54,000 แห่ง พบว่าการว่าจ้างเจ้าหน้ารักษาความปลอดภัยประจำโรงเรียน เเละการติดตั้งกล้องวงจรปิดภายนอกตัวอาคารของโรงเรียนช่วยให้เด็กนักเรียนรู้สึกปลอดภัยขึ้น
เเต่การติดตั้งกล้องวงจรปิดในตัวอาคารของโรงเรียน กลับทำให้เด็กนักเรียนรู้สึกไม่ปลอดภัย
ซาร่า ลินด์สตรอม จอห์นสัน (Sarah Lindstrom Johnson) แห่ง มหาวิทยาลัยรัฐอาริโซน่า ในเมืองเทมเป กล่าวว่า มีความจำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยทางอารมณ์ของเด็กนักเรียนด้วย ซึ่งความพยายามปรับปรุงความปลอดภัยทางกายในโรงเรียนของสหรัฐฯ อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางจิตใจของเด็ก
นอกจากการสำรวจความคิดเห็นของนักเรียนเเล้ว ทีมนักวิจัยยังได้ไปตรวจดูมาตรการรักษาความปลอดภัยต่างๆ ที่โรงเรียน ได้นับดูจำนวนกล้องทั้งภายในเเละภายนอกอาคารของโรงเรียน เเละระบุถึงการประจำการของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่โรงเรียนด้วย
เมื่อทีมนักวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ และพบว่ายิ่งมีกล้องถ่ายภาพในโรงเรียนมากขึ้นเท่าใด เด็กนักเรียนบอกว่ายิ่งรู้สึกปลอดภัยน้อยลง
ลินด์สตรอม จอนห์สัน กล่าวว่า ในขณะที่การติดตั้งกล้องในตัวอาคารของโรงเรียนอาจมีจุดประสงค์ด้านความปลอดภัย แต่นักเรียนรู้สึกว่ากำลังถูกสอดส่อง เธอกล่าวว่า เมื่อคำนึงถึงความรู้สึกของนักเรียนต่อเรื่องนี้ ผู้บริหารของโรงเรียนควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่าทำไมต้องติดตั้งกล้องภายในโรงเรียน
อย่างไรก็ตาม ลินด์สตรอม จอนห์สัน กล่าวเพิ่มเติมว่า ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามาตรการเหล่านี้ช่วยป้องกันเหตุการณ์ยิงในโรงเรียน เเละน่าจะดีกว่าหากโรงเรียนจะนำเงินงบประมาณท้องถิ่นที่ใช้ไปกับมาตรการเหล่านี้ไปใช้กับด้านอื่นๆ ที่ส่งเสริมความรู้สึกปลอดภัยทางอารมณ์ของเด็กนักเรียน
เพราะมีหลักฐานสนับสนุนว่า การส่งเสริมความมั่นคงทางอารมณ์ของเด็กนักเรียน ช่วยลดความรุนแรงในโรงเรียนลง
เเชนนอน เบนเน็ท (Shannon Bennett) รองศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาวัยรุ่น และผู้อำนวยการด้านจิตวิทยาคลีนิกที่ศูนย์ศึกษาความวิตกกังวลในวัยรุ่น แห่งศูนย์การแพทย์ วายเอล คอร์เเนล (Weill Cornell Medical Center) กล่าวว่า ผลการศึกษาชิ้นใหม่นี้เเสดงว่าการเพิ่มการรักษาความปลอดภัยไม่ช่วยให้นักเรียนรู้สึกปลอดภัยมากขึ้นเสมอไป
เบนเน็ท กล่าวว่า จำเป็นต้องครุ่นคิดมากกว่านี้ เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดเพื่อสร้างความปลอดภัยในโรงเรียน เเละส่งเสริมบรรยากาศที่ดีของการเรียนรู้ควบคู่ไปด้วย
และขณะที่เป็นไปได้ที่กล้องถ่ายภาพภายในตัวอาคารอาจช่วยแก้ปัญหาการรังเเกในโรงเรียน แต่ต้องมีการชี้เเจงชัดเจนว่าจะนำภาพถ่ายที่ได้ไปใช้อย่างไร
แอรอน คัพชิค (Aaron Kupchik) ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาเเละความยุติธรรม (sociology and criminal justice) มหาวิทยาลัยดัลลาเเวร์ ในเมืองนวร์ค เตือนว่า หากมาตรการรักษาความปลอดภัยถูกนำไปใช้งานแบบขาดประสิทธิภาพ อาจทำให้นักเรียนรู้สึกว่ากำลังถูกจับผิดมากกว่าได้รับการปกป้อง เด็กนักเรียนอาจรู้สึกว่าถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายหรือเป็นนักโทษ
เขากล่าวว่า มีสิ่งหนึ่งที่การวิจัยได้ค้นพบ นั่นก็คือการรักษาความปลอดภัยในโรงเรียนด้วยการสร้างบรรยากาศทางสังคมที่ทำให้นักเรียนทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน มีคุณค่า ได้รับความเคารพ ครูและผู้ใหญ่ในโรงเรียนทำให้เด็กรู้สึกว่ามีคนเข้าอกเข้าใจ
คัพชิค กล่าวว่า หากโรงเรียนที่มีบรรยากาศทางสังคมทางบวกเเบบนี้ ก็น่าจะช่วยลดโอกาสที่นักเรียนจะทำร้ายคนอื่น เเละอาจช่วยลดโอกาสเกิดความรุนแรงทางอาวุธปืนในโรงเรียนได้
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทย กรุงวอชิงตัน)