ในภาวะสงคราม การทราบข้อมูล พร้อมทั้งสามารถระบุว่าใครเป็นใครได้นั้นถือเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นทหารที่เสียชีวิต ผู้ที่ถูกจับกุมตัว ขโมย คนที่เข้า-ออกเขตชายแดน หรือกระทั่งการบันทึกข้อมูลอาชญากรรมสงครามต่าง ๆ
รัฐบาลและหน่วยงานของประเทศยูเครนจึงนำเทคโนโลยีใหม่ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์จดจำใบหน้า (facial recognition) สุดล้ำสมัยจากสหรัฐฯ เข้ามาใช้เพื่อตอบโจทย์ข้างต้น โดยเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถระบุตัวทหารรัสเซีย ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่และเสียชีวิต
ลีโอนิด ทิมเชนโก (Leonid Tymchenko) หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการและสนับสนุนข้อมูลของตำรวจแห่งชาติยูเครน บอกกับผู้สื่อข่าว วีโอเอ ว่า เทคโนโลยีจดจำใบหน้าคือเครื่องมือที่มีประโยชน์มากสำหรับยูเครน ซึ่งมีการนำมาใช้ใน 5 หน่วยงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติของยูเครนแล้ว และ ระบบนี้ก็ทำงานได้ตามเป้าประสงค์อย่างไม่มีที่ติ
Clearview AI บริษัทผู้ผลิตเทคโนโลยีจดจำใบหน้าจากรัฐนิวยอร์ก ซึ่งเป็นบริษัทที่ตกเป็นเป้าการถกเถียงกันอยู่ในเวลานี้ คือ ผู้ที่อนุมัติให้รัฐบาลยูเครนใช้ฐานข้อมูลใบหน้าผู้คนนับพันล้านคนเพื่อใช้ในการระบุตัวทหารรัสเซียนั้น
ทั้งนี้ Clearview AI เพิ่งสิ้นสุดกระบวนการไกล่เกลี่ยคดีฟ้องร้องในชั้นศาล เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลจากซอฟต์แวร์ที่สามารถระบุและให้ข้อมูลตัวส่วนตัว โดยที่เจ้าตัวไม่ได้ยินยอม ซึ่งทางบริษัทอ้างว่า ตนเก็บข้อมูลส่วนบุคคลจากโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์สาธารณะต่าง ๆ รวมทั้ง สื่อสังคมออนไลน์ในประเทศรัสเซียอย่าง VKontakte (VK)
อย่างไรก็ตาม บริษัทดังกล่าวจบคดีโดยการตกลงว่า จะขายซอฟต์แวร์ของตนให้แก่ตำรวจและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายเท่านั้น
Your browser doesn’t support HTML5
ในกรณีของยูเครน เจ้าหน้าที่เริ่มต้นใช้เทคโนโลยีด้วย การประมวลใบหน้าของทหารรัสเซียที่เสียชีวิตแล้ว
ฮวน ทอนแทด (Hoan Ton-That) ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ ของ Clearview AI เป็นผู้มาอธิบายให้ วีโอเอ ฟัง เกี่ยวกับความล้ำสมัยของเทคโนโลยีประมวลข้อมูลบริษัท
ฮวน กล่าวว่า "เจ้าหน้าที่มีรูปของทหารสองนายที่ชีวิต คนหนึ่งมีหลักฐานที่ระบุประจำตัวกับตนเอง ส่วนอีกคนไม่มี หลังจากใส่รูปข้างต้นเข้าไประบบของเรา เจ้าหน้าที่สามารถค้นเจอโปรไฟล์ของทหารที่เสียชีวิตได้ แม้ว่าใบหน้าของศพจะมีความบอบช้ำหรือผิดรูปไปก็ตาม"
ในบางกรณี รัฐบาลยูเครนจะโพสต์รูปของทหารรัสเซียที่เสียชีวิตลงบนโซเชียลของรัสเซียเพื่อประกาศให้ครอบครัวของทหารเหล่านั้นได้ทราบ
หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการและสนับสนุนข้อมูลของตำรวจแห่งชาติยูเครน ยืนยันว่า การนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้สามารถช่วยแก้ไขสถานการณ์ความสับสนที่เกิดขึ้นจากภาวะสงครามได้เป็นอย่างดี
ลีโอนิด ทิมเชนโก บอกกับ วีโอเอ ว่า "ในช่วงเดือนแรกของสงคราม ญาติของทหารรัสเซียที่เสียชีวิตต่อว่าว่า ทางฝ่ายยูเครนโกหก เพราะส่วนใหญ่เชื่อว่า ลูกชายของพวกเขากำลังฝึกปฏิบัติการพิเศษอยู่และไม่ได้เข้าร่วมสงครามแต่อย่างใด เพราะฉะนั้น โปรแกรมจาก Clearview AI จึงเข้ามาตอบโจทย์และส่งผ่านความจริงให้ชาวรัสเซียและญาติๆของทหารเหล่านี้รับรู้"
แต่ผู้เฝ้าติดตามสถานการณ์บางคน อย่างเช่น สเตฟานี แฮร์ (Stephanie Hare) นักเขียนหนังสือที่มีชื่อว่า "Technology is not Neutral" หรือ เทคโนโลยีนั้นไม่เป็นกลาง ไม่เห็นด้วยกับการใช้ประโยชน์จากระบบนี้เลย
แฮร์ กล่าวกับ วีโอเอ ว่า "โมเดลธุรกิจของ Clearview AI มาจากการนำข้อมูลรูปภาพต่าง ๆ ที่ผู้คนลงบนอัลบั้มรูปออนไลน์ หรือบนโลกโซเชียลเพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ แต่สิ่งเหล่านี้กลับถูกนำมาเป็นเครื่องมือที่ใช้ในสงครามแทน”
ด้วยเหตุนี้ เธอและผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ประโยชน์จากระบบดังกล่าวรายอื่น ๆ จึงเรียกร้องให้มีกฎหมายควบคุมเทคโนโลยีนี้มากขึ้น ถึงแม้ประโยชน์ของนวัตกรรมดังกล่าวจะมาช่วยสร้างความชัดเจนให้ผู้ตกเป็นเหยื่อของสงครามครั้งนี้ก็ตาม