สิ่งที่อยู่เบื้องหลังแววตาแสนเศร้าของสุนัขคืออะไร?

Lexy

การศึกษาครั้งใหม่ชี้ มนุษย์เราเลี้ยงดูสุนัขมานานนับพันปี และก็มักจะชื่นชอบสุนัขที่สามารถทำหน้าเศร้าเพื่อดึงดูดความสนใจจากมนุษย์ได้ ซึ่งการทำหน้าเศร้านี้ยังช่วยพัฒนากล้ามเนื้อบนใบหน้าของสุนัขอีกด้วย

เจ้าตูบทั้งหลายใช้กล้ามเนื้อบนใบหน้าเพื่อเลิกคิ้วขึ้น ทำให้มีการแสดงออกทางสีหน้าที่ดูเหมือนลูกสุนัข แต่นักวิจัยกลับไม่พบกล้ามเนื้อดังกล่าวใน "หมาป่า" ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของสุนัขเหล่านี้

Anne Burrows จากมหาวิทยาลัย Duquesne ที่ Pittsburgh ผู้เขียนรายงานเรื่องนี้กล่าวว่า โดยทั่วไปเรามักจะมองไม่เห็นความแตกต่างของกล้ามเนื้อเช่นนี้ในสัตว์ทั้งสองพันธุ์ซึ่งมีความเกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิดแบบนี้

สุนัขมีความแตกต่างจากหมาป่าในหลายๆ ด้าน ตั้งแต่มีจมูกที่สั้นกว่า ตัวเล็กกว่า และแสดงออกทางสีหน้าได้มากกว่า นอกจากนี้เจ้าตูบยังต้องพึ่งพามนุษย์อย่างมากด้วยการสบตา เพื่อให้รู้ว่ามีคนพูดด้วย หรือในยามที่แก้ปัญหาไม่ตก อย่างเช่นในเวลาที่กระโดดข้ามรั้ว หรือตอนที่อยากออกไปนอกประตูบ้าน

Burrows และเพื่อนร่วมงานของเธอได้ศึกษากล้ามเนื้อดวงตาจากศพสุนัข 6 ตัว และหมาป่า 2 ตัว พบว่าสุนัขมีกล้ามเนื้อดวงตาที่แข็งแรงช่วยในการเลิกคิ้วขึ้น ทำให้มีแววตาเหมือนกับลูกสุนัข ส่วนในหมาป่ากล้ามเนิ้อแบบเดียวกันนี้กลับมีลักษณะเหมือนเส้นด้ายหรือขาดหายไป

นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ยังได้บันทึกพฤติกรรมของสุนัข 27 ตัวและหมาป่า 9 ตัวในเวลาที่จ้องหน้าคน น้องหมาซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงมักจะเลิกคิ้วขึ้นเพื่อแสดงสีหน้าเศร้า ในขณะที่หมาป่าไม่ค่อยทำสีหน้าแบบนี้เลย

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าในช่วงเวลาราว 3 หมื่นปีที่ผ่านมา สุนัขรู้จักใช้กล้ามเนื้อที่ดวงตาในการสื่อสาร หรือกระตุ้นให้เจ้าของให้อาหาร หรือเอาใจใส่พวกมัน หรืออย่างน้อยก็พาออกไปเล่นนอกบ้าน และเจ้าของทั้งหลายก็จะเผลอทำตามน้องหมาโดยไม่รู้ตัว

Evan MacLean จากมหาวิทยาลัย Arizona กล่าวว่า การค้นพบนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ แต่ก็เตือนว่าความแตกต่างของกล้ามเนื้ออาจเป็นผลทางอ้อมจากการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ มากกว่าการตอบสนองต่ออิทธิพลของมนุษย์โดยเฉพาะ

ส่วน Clive Wynne แห่งศูนย์ทดลอง Canine Science Collaboratory ของมหาวิทยาลัย Arizona State กล่าวชื่นชมคณะนักวิจัยที่ทำการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ แต่ก็ตั้งข้อสังเกตว่าการศึกษานี้เป็นการสุ่มตัวอย่างจากสุนัขเพียง 5 สายพันธุ์เท่านั้น และวีดีโอต่างๆ ก็เป็นเรื่องของสุนัขพันธุ์ Staffordshire bull terriers เสียส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังขาดข้อมูลภูมิหลังของสุนัขแต่ละตัวด้วย

อย่างไรก็ดี Anne Burrows จากมหาวิทยาลัย Duquesne วางแผนที่จะศึกษาวิจัยสุนัขพันธุ์อื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อขยายผลการศึกษาฉบับดังกล่าว