Your browser doesn’t support HTML5
สิ่งบ่งบอกความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ชัดเเจ้งขึ้นในวันพฤหัสบดี เมื่อทางการกรุงโซลยกเลิกความตกลงแบ่งบันข่าวกรองทางทหารกับรัฐบาลโตเกียว
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ผลกระทบจากการตัดสินใจครั้งนี้มีแรงกระเพื่อมมาถึงสหรัฐฯ ด้วย โดยรัฐบาลเกาหลีใต้กล่าวว่า ความตกลงดังกล่าวไม่อยู่ในผลประโยชน์แห่งชาติของประเทศอีกต่อไป และทางการกรุงโซลยังระบุถึงการที่ญี่ปุ่นถอนเกาหลีใต้ออกจากรายชื่อประเทศคู่ค้าที่น่าเชื่อใจของรัฐบาลโตเกียว
ทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้ กล่าวว่า “เหตุผลของการตัดสินใจคือเกิดปัญหาเรื่องความมั่นคงที่ผุดขึ้นมาจากการละเมิดต่อความเชื่อใจกัน”
ทั้งนี้ความตกลงแบ่งบันข่าวกรองทางทหารของทั้งสองประเทศ หรือ GSOMIA (General Security of Military Information Agreement) เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อน
พันเอก เดวิด เเม็กซ์เวลล์ อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายกองกำลังพิเศษของกองทัพบกสหรัฐฯ ที่เคยทำงานในเกาหลีใต้ วิเคราะห์ว่าการยุติความร่วมมือดังกล่าวน่าจะมีผลต่อปฏิบัติการทางทหารและข่าวกรอง
เขาประเมินว่า สหรัฐฯ อาจเป็นตัวกลางในการเเบ่งบันข้อมูลระหว่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่น แต่ก็น่าห่วงว่ารัฐบาลของทั้งสองประเทศอาจเพิ่มเงื่อนไขว่า การแชร์ข่าวกรองผ่านประเทศที่ตัวกลางไม่สามารถทำได้
ในหนังสือพิมพ์ยอนฮับของเกาหลีใต้ รัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีใต้ คัง เคียงวา กล่าวว่าการถอนตัวจากความตกลง GSOMIA นี้ ไม่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีใต้
อย่างไรก็ตาม พันเอก เเม็กซ์เวลล์ ที่ปัจจุบันทำงานให้กับมูลนิธิ Foundation for Defense of Democracies กล่าวว่า การถอนตัวของเกาหลีใต้สร้างความเสียหายต่อความมั่นคงเเห่งชาติของทั้งสามประเทศ โดยที่ผลเสียจะตกอยู่กับเกาหลีใต้มากที่สุด
โฆษกกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ พันโท เดวิด อีสต์เบิร์น กล่าวว่า สหรัฐฯ ขอเร่งเร้าให้เกาหลีใต้และญี่ปุ่นหาทางออกให้กับความไม่ลงรอยกัน และย้ำถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อความมั่นคงในเอเชียตะวันออก หากทั้งสามประเทศร่วมมือกันอย่างเหนียวเเน่น
อาจารย์ ลีฟ-อิริค แอสลีย์ แห่งมหาวิทยาลัย Ewha Womans University ที่กรุงโซล กล่าวว่า รัฐบาลเกาหลีใต้อาจเห็นว่าการถอนตัวจาก GSOMIA เป็นการส่งสัญญาณเชิงสัญลักษณ์ที่มีความเสี่ยงต่ำ ว่าเกาหลีใต้เอาจริงเอาจังกับความขัดเเย้งกับญี่ปุ่น
เเต่เขาเตือนว่าการกระทำดังกล่าวอาจผลส่งเสียมากกว่าที่เกาหลีใต้คิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าญี่ปุ่นยกระดับแรงกดดันทางการค้าต่อเกาหลีใต้
เมื่อกลางเดือนสิงหาคม ประธานาธิบดี มูน แจ-อิน ของเกาหลีใต้ เสนอให้มีการเจรจากับญี่ปุ่นเพื่อยุติความขัดแย้งทางการค้าในขณะนี้ โดยระบุว่า เกาหลีใต้ยินดีจับมือกับญี่ปุ่นเพื่อหารือแนวทางยุติข้อพิพาทดังกล่าว
ก่อนหน้านั้นในสัปดาห์เดียวกัน เกาหลีใต้ประกาศว่าจะถอดชื่อญี่ปุ่นออกจากรายชื่อประเทศคู่ค้าที่ได้รับความไว้วางใจ และจะนำไปอยู่ในกลุ่มใหม่ที่จะถูกใช้มาตรการควบคุมการส่งออกสินค้าบางอย่างมายังเกาหลีใต้
คำประกาศครั้งนั้นของรัฐบาลกรุงโซล ยิ่งทำให้ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศเพื่อนบ้านสองประเทศนี้รุนแรงยิ่งขึ้น หลังจากที่ญี่ปุ่นเพิ่งถอดชื่อเกาหลีใต้ออกจากรายชื่อประเทศที่ญี่ปุ่นต้องการทำการค้าด้วย
ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างญี่ปุ่นที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 3 ของโลก กับเกาหลีใต้ที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับที่ 11 ของโลก เริ่มต้นขึ้นเมื่อญี่ปุ่นควบคุมการส่งออกวัสดุและเคมีภัณฑ์สำคัญที่ใช้ในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไปยังเกาหลีใต้ หลังจากที่ศาลเกาหลีใต้สั่งให้บริษัทญี่ปุ่นจ่ายค่าชดเชยโทษฐานบังคับใช้แรงงานเกาหลีในสมัยที่ญี่ปุ่นยึดครองคาบสมุทรเกาหลี ในปี ค.ศ. 1910-1945