หวั่นสหรัฐฯ-รัสเซีย อาจเดินเข้าใกล้ “วิกฤตนิวเคลียร์”" หากไม่ลดความตึงเครียดด้านอาวุธ

Russian President Vladimir Putin, center, attends a meeting with Russian Foreign Minister Sergey Lavrov, left, and Defense Minister Sergei Shoigu in the Kremlin in Moscow, Feb. 2, 2019. Putin said Russia would abandon the 1987 Intermediate-range Nuclear Forces Treaty

Your browser doesn’t support HTML5

Russia INF

หลังจากที่ทั้งสหรัฐฯ และรัสเซียกล่าวโทษกันเรื่องการพัฒนาขีปนาวุทธ ที่ขัดกับข้อตกลง INF สมัยสงครามเย็น (Intermediate-range Nuclear Forces) เมื่อวันศุกร์ทางการอเมริกันประกาศว่าจะระงับการมีส่วนร่วมในสนธิสัญญาดังกล่าวภายใน 6 เดือนจากนี้

และในวันเสาร์ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย กล่าวว่า รัฐบาลเครมลินจะยุติการปฏิบัติตามสนธิสัญญา INF เช่นกัน

ภายใต้สนธิสัญญานี้ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และสภาพโซเวียตในปี ค.ศ. 1987 ทั้งสองประเทศต้องกำจัดอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางและพิสัยใกล้ทั้งหมด พร้อมทั้งขีปนาวุธตามแบบปกติ (conventional missiles)

เนื่องจากสองมหาอำนาจประกาศว่าจะถอนตัวออกจากข้อตกลงที่ช่วยจำกัดการแข่งขันทางอาวุธ ขณะนี้จึงเกิดความกังวลขึ้นถึงการประชันกันด้านเเสงยานุภาพด้านกลาโหมและการสะสมยุโธปกรณ์ที่มีอำนาจรุนแรง

นักวิเคราะห์มีความเห็นที่แตกต่างกันว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากภายใน 6 เดือนจากนี้ ทั้งอเมริกาและรัสเซียไม่ปฏิบัติตามสนธิสัญญา INF

นักวิเคราะห์ เดมิทรี เทรนิน (Demitri Trenin) ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานโยบาย Carnegie Center ที่กรุงมอสโค กล่าวว่า หากสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลง INF นั่นคงไม่ถึงกับการปะทุขึ้นของวิกฤตนิวเคลียร์ อย่างที่เป็นมาในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1960 และ 1980

อย่างไรก็ตาม เขากล่าวผ่านทวิตเตอร์ว่า สถานการณ์ดังกล่าวบ่งบอกถึงบรรยากาศใหม่ที่ข้อตกลงควมคุมอาวุธหมดบทบาทลงในการสร้างเสถียรภาพในเวทีโลก

นักวิชาการผู้นี้เเนะนำให้ทั้งสองฝ่ายให้เหตุผลและความยับยั้งชั่งใจ

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์อิสระด้านการทหารของรัสเซีย อเล็กซานเดอร์ กอล์ทซ์ กล่าวว่า เราอาจจะเห็นการพัฒนาและการใช้ขีปนาวุธพิสัยกลาง

เขาเปรียบเทียบว่า นั่นหมายถึงการล่มสลายของระบบระเบียบที่ควบคุมการแข่งขันกันทางด้านอาวุธ และนั่นอาจเป็นโดมิโนที่ผลักให้ความตกลงด้านการควบคุมการพัฒนาอาวุธอีกฉบับหนึ่งล้มลงด้วย

อเล็กซานเดอร์ กอล์ทซ์ กล่าวว่า สนธิสัญญา INF ผูกพันกับข้อตกลง New START ที่เกี่ยวกับหัวรบนิวเคลียร์ และถ้าทั้งสองสนธิสัญญาล่มไปด้วยการวิกฤตการเผชิญหน้าด้านนิวเคลียร์อาจเกิดขึ้น

เมื่อเปรียบเทียบว่าฝ่ายใดน่าจะเสียประโยชน์มากกว่ากัน นักวิเคราะห์ผู้นี้กล่าวว่า รัสเซียจะอยู่ในสภาวะที่สุ่มเสี่ยง เพราะหากอเมริกายิงจรวดนำวิถีติดหัวรบนิวเคลียร์โจมตีเมืองใหญ่ๆ ของรัสเซีย เช่น มอสโคและเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก จะตกเป็นเป้าการทำลายภายใน 6 ถึง 7 นาทีเท่านั้น

เเม้ภาพการเมืองโลกในอนาคตภายใต้สมมุติฐานนี้ทำให้หลายคนกังวล ยังคงมีผู้คาดการณ์อย่างมีความหวังว่า น่าจะเกิดการคลี่คลายความขัดแย้งเรื่องสนธิสัญญา INF ใน 6 เดือนจากนี้

นักวิชาการ อเล็กซี อาร์บาตอฟ (Alexei Arbatov) แห่ง Russian Academic of Science กล่าวว่า สนธิสัญญา INF จะกลับคืนชีพมาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อรัสเซียสามารถพิสูจน์ว่าจรวดนำวิถีของตนไม่ได้ละเมิดข้อตกลงดังกล่าว อย่างที่สหรัฐฯ กล่าวหา ขณะเดียวกันอเมริกาต้องลดความกังวลให้รัสเซียเช่นกัน

นักวิชาการผู้นี้กล่าวว่า อเมริกาควรพิสูจน์ว่าระบบต่อต้านขีปนาวุธในโปแลนด์และโรมาเนีย ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อทัดทานการโจมตีด้วยนิวเคลียร์จากรัสเซียมายังยุโรป

อเล็กซี อาร์บาตอฟ พยายามวิเคราะห์ถึงสาเหตุของความขุ่นเคืองกันระหว่างรัสเซียและสหรัฐฯ เขากล่าวว่าอเมริกาไม่สนใจการปฏิบัติตามสนธิสัญญานี้เท่าใด เพราะหากรัสเซียละเมิดข้อตกลง ขีปนาวุธพิสัยกลางใดๆ ภายใต้สนธิสัญญา INF จะไม่สามารถยิงถึงแผ่นดินอเมริกัน

ส่วนรัสเซียก็ไม่เห็นว่าควรมีการปฏิบัติตามข้อตกลงนี้ เพราะหากทำจริงรัสเซียจะต้องทำลายจรวดนำวิถีจำนวนมาก และยิ่งไม่สามารถเเข่งขันทางอาวุธได้กับสหรัฐฯ

รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เซอร์เกย์ ราฟรอฟ กล่าวต่อประธานาธิบดีปูตินว่า สหรัฐฯ ละเมิดสนธิสัญญา INF มาตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ด้วยการพัฒนาเครื่องบินรบไร้คนขับ ที่มีศักยภาพโจมตีได้เช่นเดียวกับการยิงขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศ ซึ่งเป็นเงื่อนไขต้องห้ามภายใต้สนธิสัญญา

แต่อเมริกาได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว และดูเหมือนว่าหากการกล่าวโทษกันไปมายังคงดำเนินต่อไป โอกาสการสร้างความเข้าใจกัน ก็ยิ่งน้อยลง เมื่อเงื่อนเวลา 6 เดือนที่สหรัฐฯ วางไว้ เดินเข้าใกล้เส้นตายเข้ามา

(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของ Pete Cobus จากมอสโค)