กำหนดแล้ว! การประชุมสุดยอด "ทรัมป์ - ปูติน" ที่เฮลซิงกิ 16 ก.ค.

Russian President Vladimir Putin, left, shakes hands with U.S. National security adviser John Bolton during their meeting in the Kremlin in Moscow, Russia, June 27, 2018.

Your browser doesn’t support HTML5

กำหนดแล้ว! การประชุมสุดยอด "ทรัมป์ - ปูติน" ที่เฮลซิงกิ 16 ก.ค.

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ตกลงจะร่วมประชุมสุดยอดอย่างเป็นทางการครั้งแรกในวันที่ 16 มิถุนายน ที่กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์

แผนการประชุมครั้งนี้ได้รับการยืนยันหลังจากที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว จอห์น โบลตัน เดินทางเยือนกรุงมอสโก และพบปะกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซีย รวมทั้ง ปธน.ปูติน เพื่อหารือเรื่องการประชุมดังกล่าว

โดยประธานาธิบดีปูตินได้กล่าวกับนายโบลตันว่า การเยือนกรุงมอสโกของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ถือเป็นการเพิ่มโอกาสในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและรัสเซีย ที่เรียกได้ว่า ยังไม่อยู่ในทิศทางที่ดีที่สุด

ขณะที่นายโบลตัน กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่กรุงมอสโกในวันพุธว่า "มีหลายประเด็นที่ต้องหารือเพื่อลดความแตกต่างระหว่างสองประเทศ ซึ่งทั้ง ปธน.ทรัมป์ และ ปธน.ปูติน ต่างรู้สึกว่าจะสามารถหาทางจัดการความขัดแย้งดังกล่าวได้"

National Security Adviser John Bolton looks on as President Donald Trump speaks during a news conference at the G-7 summit, June 9, 2018, in La Malbaie, Quebec, Canada.

จาก "เหยี่ยว" สู่ "พิราบ"

ที่ผ่านมา นายจอห์น โบลตัน ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ และได้รับแต่งตั้งจากประธานาธิบดีทรัมป์ ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติเมื่อเดือนมีนาคม ถูกมองว่าเป็นนักการทูตผู้นิยมแนวทาง "สายเหยี่ยว" โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับรัสเซีย และยังเป็นหนึ่งในผู้ที่วิพากษ์ตำหนิรัสเซียมาตลอด ทั้งในเรื่องการแทรกแซงการเลือกตั้ง การจำกัดอาวุธ และประเด็นอื่นๆ

ดังนั้น การที่นายโบลตันรับบทบาทเป็นผู้แทนในการเจรจาให้เกิดการประชุมสุดยอดระหว่าง ปธน.ทรัมป์ กับ ปธน.ปูติน จึงค่อนข้างขัดกับบุคลิกในอดีตของนักการทูตผู้นี้ ซึ่งสร้างความแปลกใจไม่น้อยให้กับนักวิเคราะห์การเมืองอเมริกัน

อย่างไรก็ตาม นายโบลตัน ระบุว่า "ปัจจุบันตำแหน่งของตนนั้นคือที่ปรึกษาของ ปธน.ทรัมป์ ดังนั้นหน้าที่ที่ต้องทำก็คือผลักดันในสิ่งที่ ปธน.ทรัมป์ ต้องการให้เกิดขึ้น"

ทั้งนี้ ผู้นำสหรัฐฯ และรัสเซีย พบกันมาแล้ว 2 ครั้ง ระหว่างการหารือนอกรอบในเวทีประชุมสุดยอดในระดับนานาชาติ และมีการติดต่อกันทางโทรศัพท์อยู่หลายครั้ง แต่การประชุมที่จะมีขึ้นนี้ จะเป็นการประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรกของผู้นำทั้งสอง

ที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย ตึงเครียดจากท่าทีของรัสเซียในสถานการณ์ความขัดแย้งในซีเรีย รวมทั้งประเด็นการแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี ค.ศ. 2016

เมื่อปีที่แล้ว นายจอห์น โบลตัน เคยกล่าวไว้ว่า การที่รัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐฯ นั้น ถือเป็น "ความพยายามก่อสงคราม" แต่ในแถลงข่าวล่าสุดเรื่องแผนการประชุมของผู้นำสหรัฐฯ - รัสเซีย นายโบลตันระบุว่า "ฝ่ายตรงข้ามของประธานาธิบดีทรัมป์ พยายามปั้นเรื่องขึ้นมาเพื่อใช้กล่าวหาผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งล้วนไม่เป็นความจริง และ ปธน.ทรัมป์ ได้ถือว่าข้อกล่าวหาเหล่านั้น เป็น 'เสียงนกเสียงกาทางการเมือง' "

จับตาประเด็นสำคัญของการประชุม "ทรัมป์ - ปูติน"

เวลานี้นักวิเคราะห์กำลังจับตามองว่า ภายในช่วงเวลาการเตรียมงานที่เหลืออยู่อีกไม่ถึงหนึ่งเดือน จะมีประเด็นสำคัญอะไรบ้างที่จะถูกนำมาพูดถึงในการประชุมครั้งนี้ เพื่อให้การประชุมเกิดผลสำเร็จมากที่สุด

โดยคาดว่าจะมีการหารือหัวข้อในการเจรจา ระหว่างการพบกันของรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ และรัสเซีย ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

หนึ่งในหัวข้อสำคัญที่ถือเป็นผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศ คือการหารือเรื่องการจำกัดอาวุธ และการต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งครอบคลุมถึงปฏิบัติการของรัสเซียในยูเครน และซีเรีย ตลอดจนมาตรการลงโทษของประเทศตะวันตกที่มีต่อรัสเซีย และข้อกล่าวหาของอังกฤษที่ว่า รัสเซียอยู่เบื้องหลังการวางยาพิษอดีตสายลับสองหน้าในแผ่นดินอังกฤษ เมื่อเดือนมีนาคม

นายโรเบิร์ต แมนนิ่ง นักวิเคราะห์ของ Atlantic Council กล่าวกับ VOA ว่า ความคืบหน้าที่อาจจะเกิดขึ้นจากการประชุม "ทรัมป์ - ปูติน" ครั้งนี้ คือความตกลงกันในเรื่องซีเรีย และยูเครน และการรักษาสนธิสัญญาจำกัดอาวุธฉบับเดิมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน