รัสเซียปฏิเสธข้อกล่าวหาวางยาพิษ 'นาวาลนี' ผู้ท้าทายอำนาจปูติน

Russian President Vladimir Putin attends a meeting via video conference at the Novo-Ogaryovo residence outside Moscow, Russia, Sept. 3, 2020.

รัฐบาลรัสเซียออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการวางยาพิษนักการเมืองฝ่ายค้านของรัสเซีย นายอเล็กเซ นาวาลนี หลังจากที่เมื่อวานนี้ ทางการเยอรมนีเปิดเผยผลการตรวจสอบว่านายนาวาลนีถูกวางยาพิษทำลายประสาทที่ผลิตในสมัยสหภาพโซเวียต

เมื่อวันพุธ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี อังเกลา แมร์เคิล ประกาศว่า ยาพิษที่พบในร่างกายของนายนาวาลนี คือ สารเคมีทำลายประสาทในกลุ่ม "โนวิช็อก" ซึ่งผลิตในสมัยสหภาพโซเวียต และกล่าวว่าขณะนี้นายนาวาลนีกำลังพักฟื้นอยู่ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเบอร์ลิน

ผู้นำเยอรมนี กล่าวว่า นายนาวาลนีตกเป็นเหยื่อของการโจมตีด้วยสารพิษ ซึ่งชัดเจนว่าเป็นความพยายามของผู้ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลรัสเซียในการสังหารนักการเมืองฝ่ายค้านผู้นี้ และเป็นคำถามสำคัญที่มีเพียงรัฐบาลรัสเซียเท่านั้นที่สามารถให้คำตอบได้

SEE ALSO: เยอรมนียืนยัน 'ผู้นำฝ่ายค้านรัสเซีย' ถูกสารพิษทำลายประสาทโนวิช็อก

อย่างไรก็ตาม โฆษกของรัฐบาลรัสเซียตั้งข้อสงสัยถึงกระบวนการตรวจสอบของเยอรมนี โดยระบุว่าก่อนหน้านี้แพทย์รัสเซียได้ตรวจนายนาวาลนีแต่ไม่พบสัญญาณของการถูกวางยาพิษทำลายประสาทแต่อย่างใด ก่อนที่นายนาวาลนีจะถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่กรุงเบอร์ลินเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม

โฆษกรัสเซีย ดิมิทรี เพสคอฟ กล่าวว่า "ไม่มีหลักฐานรองรับคำกล่าวหาที่มีต่อรัสเซีย และทางการรัสเซียไม่ขอยอมรับคำกล่าวหาใด ๆ ทั้งสิ้นในกรณีนี้"

ขณะเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียยืนยันว่า ทางการเยอรมนีได้เรียกตัวเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำกรุงเบอร์ลินเข้าพบ แต่ก็มิได้แสดงหลักฐานรองรับข้อกล่าวหานั้นแต่อย่างใด

ส่วนทางสภาผู้แทนราษฎรรัสเซียได้เริ่มการสอบสวนต่อกรณีของนายนาวาลนีเช่นกัน พร้อมตั้งข้อสงสัยว่า นายนาวาลนีอาจถูกวางยาพิษโดยสายลับจากชาติตะวันตก เพื่อโยนความผิดให้กับรัสเซีย โดยมีจุดประสงค์เพื่อทำลายชื่อเสียงและยับยั้งโครงการสร้างท่อส่งแก๊สระหว่างรัสเซียกับเยอรมนี

FILE PHOTO: Russian opposition leader Navalny attends a rally to demand the release of jailed protesters in Moscow

เมื่อวานนี้ ห้องแล็บของกองทัพเยอรมนีแสดงหลักฐานของสารเคมีในกลุ่มโนวิช็อกที่พบในตัวนายนาวาลนี ซึ่งเป็นสารพิษชนิดเดียวกับที่ใช้ลอบสังหารอดีตสายลับชาวรัสเซีย เซอร์เก สคริพาล และบุตรสาว ที่เมืองซอลส์บิวรี ประเทศอังกฤษ เมื่อสองปีก่อน

เหตุการณ์ลอบสังหารนายสคริพาล ส่งผลให้เกิดความตึงเครียดทางการทูตระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตก โดยทั้งสหรัฐฯ อังกฤษ และชาติพันธมิตรอื่น ๆ ได้ใช้มาตรการขับเจ้าหน้าที่การทูตของรัสเซียออกนอกประเทศ รวมมากกว่า 100 คน ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่ารัฐบาลเยอรมนีอาจจำมาตรการลักษณะเดียวกันมาใช้ในครั้งนี้

โดยนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล กล่าวว่า รัฐบาลกรุงเบอร์ลินจะแจ้งไปยังสหภาพยุโรปและองค์การนาโต้เกี่ยวกับผลการตรวจดังกล่าว และจะปรึกษาเพื่อหาทางตอบสนองอย่างเหมาะสมต่อไป

A view of the central building of the Charite hospital, where Russian opposition leader Alexei Navalny is being treated, in Berlin, Germany, Sept. 2, 2020.



นายอเล็กเซ นาวาลนี ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลฉุกเฉินเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากมีปฏิกิริยาอย่างรุนแรงหลังจากที่จิบชาร้อนที่สนามบินเมืองทอมสก์ ขณะกำลังเดินทางจากแคว้นไซบีเรียกลับกรุงมอสโก ทำให้เครื่องบินต้องลงจอดฉุกเฉินที่เมืองออมสก์ และนายนาวาลนีถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที โดยเขาไม่รู้สึกตัวและต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

ต่อจากนั้นนายนาวาลนีถูกนำตัวขึ้นเครื่องบินเพื่อไปรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลชาร์ไรต์ ในกรุงเบอร์ลิน เยอรมนี หลังจากที่กลุ่มผู้สนับสนุนและภริยาของนายนาวาลนีได้ร้องเรียนและขอความช่วยเหลือจากแพทย์เยอรมนี เพราะไม่ไว้ใจว่าทางการรัสเซียอาจพยายามปกปิดหลักฐานบางอย่าง

กลุ่มพันธมิตรของนายนาวาลนี เชื่อว่า รัฐบาลกรุงเครมลินเป็นผู้เบื้องหลังอาการเจ็บป่วยของผู้นำฝ่ายค้าน และบางรายเรียกร้องให้มีการสอบสวนว่า ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่