พบกับหุ่นยนต์หลากชนิดในงานแสดงเทคโนโลยีหุ่นยนต์นครพิตต์สเบิร์ก

Your browser doesn’t support HTML5

พบกับหุ่นยนต์หลากชนิดในงานแสดงเทคโนโลยีหุ่นยนต์นครพิตต์สเบิร์ก

ทีมนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกได้พัฒนาหุ่นยนต์ออกมาใช้ในงานหลายด้านทั้งงานวิศวกรรม งานกู้ภัย งานด้านการแพทย์ กีฬาและงานบ้าน

Your browser doesn’t support HTML5

ความก้าวหน้าของการพัฒนาหุ่นยนต์

ที่งานประชุม White House Frontiers เมื่อเร็วๆนี้ ในเมือง Pittsburgh รัฐ Pennsylvania สหรัฐอเมริกา ทีมนักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ ได้นำหุ่นยนต์ที่คิดค้น มาแสดง เพื่อไขข้อสงสัยของหลายคนที่ว่า เทคโนโลยีหุ่นยนต์ทำให้คนเรามีความเป็นมนุษย์มากขึ้นหรือน้อยลง

งานประชุมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเเห่งสหรัฐฯ นี้ ทางทำเนียบขาวร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงานกับมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon

หุ่นยนต์หน้าตาเเปลกๆ หลายตัวที่นำมาเสนอในงานประชุม เป็นฝีมือการคิดค้นของทีมวิศวกรที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ และแม้จะเป็นปัญญาประดิษฐ์ แต่ถูกสร้างขึ้นให้ทำงานได้เหมือนมนุษย์

Matthew Tesch วิศวกรประจำมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon กล่าวว่าหุ่นยนต์เหล่านี้ถูกพัฒนาขึ้นให้สามารถเข้าไปในจุดที่คนเราเข้าไปไม่ได้ หรือในพื้นที่อันตรายที่ีคนไม่ควรเข้าไป นั่นหมายรวมถึงการเข้าไปสำรวจอาคารที่ถล่มลงมาเพื่อค้นหาเหยื่อและผู้รอดชีวิต

ส่วนหุ่นยนต์อีกแบบหนึ่งที่นำมาเเสดงในงาน เป็นหุ่นยนต์บินได้ เพื่อช่วยวิศวกรในงานตรวจสอบความปลอดภัยของสะพานหรือเขื่อน

Burcu Akinci ผู้เชี่ยวชาญเเห่งมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon กล่าวว่าหุ่นยนต์เหล่านี้สามารถทำงานตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาคสนาม หรือวิศวกรที่ให้ไปสำรวจและเก็บข้อมูลในพื้นที่จุดต่างๆ

งานประชุม White House Frontiers ที่เมือง Pittsburgh ชี้ให้เห็นอนาคตที่รวมเอาปัญญามนุษย์เข้ากับปัญญาประดิษฐ์ของหุ่นยนต์ เพื่อใช้งานด้านการแพทย์และการวินิจฉัยโรค

และเนื่องจากข้อจำกัดของมนุษย์ไม่ได้อยู่เเค่ทางร่างกายเท่านั้น นักวิจัยกำลังหาทางพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ใหม่ๆ ที่สามารถเข้าใจจิตใจและความรู้สึกของคนได้ด้วย

หุ่นยนต์ Multisense จะตรวจการเเสดงออกทางสีหน้าและการเเสดงออกที่ไม่ใช่ทางวาจาเพื่อวินิจฉัยว่าคุณป่วยด้วยโรคจิตเภทหรือไม่ อาทิ โรคซึมเศร้าหรือโรคเครียดหลังประสบการณ์เหตุสะเทือนขวัญหรือ PTSD ซึ่ง Louis-Philippe Morency รองศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon กล่าวว่าเรามีความรู้ทางการเเพทย์อยู่เเล้ว แต่ยังขาดเทคโนโลยีที่สามารถวินิจฉัยพฤติกรรมของคนไข้ที่ได้ผลทันที

นอกจากทางด้านการวินิจฉัยโรคเเล้ว เทคโนโลยีหุ่นยนต์ยังกำลังจะเข้าไปมีบทบาทในด้านกีฬาอีกด้วย

ญี่ปุ่น บริษัท Omron Corporationได้คิดค้นและพัฒนาหุ่นยนต์ที่ชื่อว่า Forpheus ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ครูฝึกปิงปองตัวเเรก

หุ่นยนต์ตัวนี้ติดกล้องหลายตัวที่ช่วยในการคำนวณความเร็ว การหมุนและทิศทางของลูกปิงปองที่คู่เเข่งที่ตีกลับมา แล้วช่วยให้หุ่นยนต์ตีลูกกลับไปได้อย่างเหมาะสมกับระดับความสามารถของผู้เล่น หุ่นยนต์สามารถอ่านการเคลื่อนไหวต่างๆของลูกปิงปองได้ 80 ครั้งภายในเวลาหนึ่งวินาที และพยากรณ์การตีลูกกลับมาของคู่เล่น

เจ้าหน้าที่ของบริษัท Omron Corporation กล่าวว่า หุ่นยนต์จะตีหยอดลูกปิงปองกลับไปหากเป็นผู้เล่นมือใหม่ แต่จะไม่ออมเเรงหากเล่นกับคนที่ฝีมือดี ดังนั้นหุ่นยนต์ครูฝึกตีปิงปองนี้จึงเหมาะสมกับผู้เล่นทุกระดับความสามารถ ทั้งนักปิงปองสมัครเล่นหรือมืออาชีพ

(รายงานโดย Deborah Block กับ Tina Trihn / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว)