ระดับการศึกษาและฐานะทางเศรษฐกิจเกี่ยวข้องกับความยืนยาวของชีวิตได้อย่างไร

  • ทรงพจน์ สุภาผล

ระดับการศึกษาและฐานะทางเศรษฐกิจเกี่ยวข้องกับความยืนยาวของชีวิตได้อย่างไร

รายงานของ Harvard Medical School ชี้คนที่มีการศึกษาสูงเกินปริญญาตรีและฐานะทางเศรษฐกิจดีจะมีอายุยืนยาวกว่าคนที่มีรายได้และการศึกษาต่ำกว่า

งานวิจัยของศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา George Vaillant แห่ง Harvard Medical School ระบุว่าระดับการศึกษามีความเกี่ยวข้องอย่างมากต่อความยืนยาวของชีวิต ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงปัจจัยทางพฤติกรรมอื่นๆ เช่นปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่หรือการใช้ยาเสพติดต่างๆ


งานวิจัยชิ้นนี้เริ่มเก็บข้อมูลมาตั้งแต่ปี ค.ศ 1937 หรือ 75 ปีก่อน พบว่านักศึกษาชายในม.Harvard มีอายุเฉลี่ยยืนยาวกว่าประชากรชายในนครบอสตันราว 10 ปี และพบด้วยว่าประชากรชายในนครบอสตันที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปหรือผ่านการศึกษาในระบบมานานกว่า 16 ปี มีอายุเฉลี่ยและระดับสุขภาพพอๆกับนักศึกษาชายในม.Harvard

ศาสตราจารย์ George Vaillant บอกว่ามีแนวโน้มที่ผู้ที่จบการศึกษาในระดับเกินปริญญาตรีจะดื่มเหล้า สูบบุหรี่และเป็นโรคอ้วนน้อยกว่าผู้ที่มีการศึกษาระดับต่ำกว่า ในขณะเดียวกันคนที่จบการศึกษาสูงนั้นก็มีแนวโน้มว่าจะมีฐานะและรายได้ดีกว่าคนที่การศึกษาต่ำกว่าด้วย

เกี่ยวกับเรื่องนี้คุณ James Smith นักเศรษฐศาสตร์แห่งสถาบัน RAND ให้ความเห็นต่องานวิจัยชิ้นนี้ว่า คนที่มีการศึกษาและระดับรายได้สูงกว่ามีแนวโน้มว่าจะเป็นคนที่ใส่ใจต่ออนาคต สนใจสุขภาพตัวเอง ระมัดระวังเรื่องการใช้ชีวิต และมีโอกาสเข้าถึงแพทย์มากกว่าคนที่มีระดับการศึกษาต่ำและมีรายได้ต่ำกว่า

คุณ James Smith ยังบอกด้วยว่าสุขภาพและความร่ำรวยนั้นต่างเอื้อซึ่งกันและกัน กล่าวคือเมื่อมีสุขภาพดีก็มีแรงทำงานหาเงินเพิ่มขึ้น และเมื่อฐานะดีขึ้นก็มีโอกาสเข้าถึงหมอเข้าถึงยารักษาโรคและเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ได้มากขึ้นเช่นกัน โดยมีรายงานอีกชิ้นหนึ่งจากคณะนักวิทยาศาสตร์อังกฤษที่สนับสนุนแนวคิดนี้ระบุไว้ว่า คนที่ฐานะดีขึ้นจะมีฮอร์โมนชนิดหนึ่งเพิ่มขึ้น ซึ่งฮอร์โมนที่ว่านี้ทำหน้าที่ควบคุมควบคุมความเครียด และยังเกี่ยวข้องกับการเลือกรับประทานอาหาร ออกกำลังกายและความสัมพันธ์กับคนรอบข้างที่ล้วนเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้มีอายุยืนยาวด้วยเช่นกัน