รายงานวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ราคาข้าวจะยังคงสูงอยู่ในปี 2024 หากอินเดียยังคงงดส่งออกและสภาพอากาศยังแปรปรวน ส่งผลกระทบต่อปากท้องคนในหลายพื้นที่ที่อาศัยข้าวเป็นอาหารหลัก ดังที่เกิดขึ้นแล้วในปีนี้
ราคาข้าวในตลาดโลกปี 2023 ดีดตัวสูงขึ้น 21% สืบเนื่องจากปัญหาที่เริ่มต้นจากสภาวะอากาศที่แปรปรวน ตั้งแต่ปรากฏการณ์ลานีญาในเดือนมีนาคม ตามมาด้วยภาวะเอลนีโญในเดือนมิถุนายน
สภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้เกิดปัญหาเก็บเกี่ยวข้าวไม่ตรงตามเป้าในอินเดีย ผู้ส่งออกข้าวเบอร์หนึ่งของโลก จนต้องประกาศงดส่งออกข้าวในเดือนสิงหาคม อ้างอิงตามรายงานประจำปีที่เผยแพร่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2023 โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)
โจเซฟ กลอเบอร์ นักวิจัยอาวุโสจากสถาบัน International Food Policy Research Institute กรุงวอชิงตัน กล่าวกับบลูมเบิร์กว่า นโยบายของอินเดีย ได้ทิ้งช่องว่างในสต๊อกข้าวโลก ที่ไม่ได้มีผู้ค้ามากหน้านัก
การงดส่งออกข้าวประเภทที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติโดยอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีสัดส่วนการส่งออกข้าวถึงร้อยละ 40 ของตลาดโลก ส่งผลให้ปริมาณข้าวในปีนี้หายไปจากตลาดถึง 10 ล้านตัน ตามการรายงานของรอยเตอร์
การคาดการณ์ของธนาคารโลกคาดการณ์ว่า “ราคาข้าวจะยังสูงอยู่ในปี 2024 ในกรณีที่อินเดียยังคงมาตรการงดส่งออกอยู่ การวิเคราะห์นี้อนุมานว่าเอลนีโญ จะอยู่ในระดับกลาง-รุนแรง”
รายงานของธนาคารโลกเมื่อ 30 ตุลาคม ระบุว่า ราคาข้าวพุ่งแตะที่สูงที่สุดในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ซึ่งเป็นราคาที่สูงที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตอาหารเมื่อปี 2007-2008 โดยมีสาเหตุมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญและสงครามอิสราเอล-ฮามาส
ข้อมูลจากกระทรวงการเกษตรสหรัฐฯ (USDA) ระบุว่า ข้าวเป็นอาหารหลักของประชากรหลายพันล้านคนทั่วโลก โดยฐานผู้บริโภคข้าวหลัก ๆ จะอยู่ในภูมิภาคเอเชีย แอฟริกา และอเมริกาใต้
ความเป็นไปของข้าว จึงย่อมมีผลกระทบต่อปากท้องของผู้คนอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีข้าวเป็นส่วนประกอบหลักบนจานอาหารแต่ละวัน
ที่ฟิลิปปินส์ ประเทศผู้นำเข้าข้าวสูงเป็นอันดับหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประธานาธิบดีเฟอร์ดินาน มาร์กอส จูเนียร์ ประกาศเพดานราคาข้าวเมื่อวันที่ 5 กันยายน หลังราคาข้าวพุ่งสูงแตะราคาประวัติการณ์ในรอบ 14 ปีในเดือนเดียวกัน ก่อนจะยกเลิกไปในเดือนต่อมาหลังปริมาณข้าวในตลาดเพิ่มขึ้น
อัลฟี ปูลุมบาริท ผู้ประสานงานจาก MASIPAG องค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายของเกษตรกร นักวิทยาศาสตร์และภาคประชาสังคมในฟิลิปปินส์ ให้ข้อมูลกับวีโอเอไทยว่า ราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อชาวฟิลิปปินส์
ปูลุมบาริทอ้างอิงข้อมูลจากภาครัฐ ที่ระบุว่าค่าครองชีพขั้นต่ำของฟิลิปปินส์อยู่ที่คนละ 79 เปโซ (ราว 49.41 บาท) ต่อวัน ในขณะที่ราคาข้าวอยู่ที่กิโลกรัมละ 57.9 เปโซ (ราว 36 บาท) ไม่เพียงเท่านั้น ชาวนาในประเทศที่ไม่สามารถแข่งขันกับราคาข้าวโลกก็กำลังละทิ้งผืนนาไปหางานอื่นทำ
“หากในอนาคตจะมีปัญหาเรื่องการเก็บเกี่ยวข้าวในประเทศส่งออก และเรามีชาวนาที่เลิกปลูกข้าวแล้วในฟิลิปปินส์ ผมก็ไม่รู้สิ แต่เราอาจกำลังจะมีวิกฤตอาหารขนาดใหญ่” ผู้ประสานงานจาก MASIPAG กล่าว
เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเกษตรของอินโดนีเซียก็ประกาศว่า ผลกระทบจากภาวะเอลนีโญ อาจทำให้อินโดนีเซียต้องนำเข้าข้าวเป็นปริมาณสูงสุดถึง 5 ล้านตันในปี 2024
ที่ไนจีเรีย ราคาข้าวในเดือนกันยายนและพฤศจิกายนพุ่งสูงขึ้นถึง 61% การคาดการณ์จากกระทรวงการเกษตรสหรัฐฯ ประเมินว่าไนจีเรียจะใช้เงินราว 1,300 ล้านดอลลาร์ (ราว 45,400 ล้านบาท) เพื่อนำเข้าข้าว 2.1 ล้านตันในปีหน้า
อากาศแปรปรวน ส่งผลกระทบราคาข้าว
สภาพอากาศในปีหน้า ยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการวิเคราะห์ราคาข้าวในปีหน้าของหลายสำนัก
หน่วยงานด้านสภาพอากาศแห่งชาติสหรัฐฯ คาดการณ์เมื่อ 14 ธันวาคมว่า เอลนีโญจะยังส่งผลกระทบต่อพื้นที่ซีกโลกเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวปริมาณมหาศาล เช่น จีน อินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายนปี 2024 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเริ่มฤดูกาลเพาะปลูกในเอเชีย
สำหรับไทย ช่วงเวลาดังกล่าวถือว่ามีความเหมาะสม เพราะฤดูกาลเพาะปลูกนาปี จะเริ่มต้นในช่วงราวเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นฤดูฝน แต่เกษตรกรบางรายยังคงตั้งคำถามว่าจะได้ประโยชน์อะไรจากสิ่งที่เกิดขึ้น
อานงค์ มุ่งเตย อายุ 68 ปี จาก อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น เล่าว่าต้นทุนการทำนาในปัจจุบันสูงขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้าง ค่าปุ๋ย หรือการจ้างรถเกี่ยวข้าวและรถที่จะนำข้าวไปขาย แต่ราคาข้าวหน้าโรงสีท้องถิ่นกลับไม่ปรับตัวสูงขึ้นตามที่ควรจะเป็น
ไม่เพียงเท่านั้น ราคาข้าวที่มักสูงขึ้นในช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม ก็เป็นช่วงที่ยังไม่ถึงฤดูเก็บเกี่ยวและส่งชายที่จะอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงราวมีนาคมของอีกปี
“ตลาดโลกขึ้นก็จริง แต่เถ้าแก่โรงสีไม่ขึ้นจะให้ทำยังไง เงินอยู่กับเขา เราเอาไป เขาให้เท่าไหนก็ต้องขาย เสียค่ารถไปแล้วก็ไม่เอากลับหรอก เขาให้เท่าไหร่ก็ต้องขาย” อานงค์กล่าว พร้อมเสนอแนะให้รัฐบาลมีนโยบายประกันราคาพืชผล และปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกร
สายสุดา จำเริญดี อายุ 50 เกษตรกรที่ขยับขึ้นมาเป็นเจ้าของกิจการโรงสีใน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ กล่าวกับวีโอเอไทยว่า ราคาข้าวมักจะดีในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมทุกปี เพราะปริมาณข้าวในตลาดมีน้อย แต่การควบคุมราคาจากโรงสีขนาดใหญ่และพ่อค้าคนกลางทำให้ชาวนาไม่ได้กำไรจากราคาที่ขึ้น
“เป็นอย่างนี้ทุกปีแหละค่ะ ขึ้นมาช่วงคล้ายๆ ว่าช่วงข้าวหาซื้อยาก ขึ้นมาเพราะอยากให้คนขนไปขาย แต่หน้าข้าวเขียว คนอยากมีเงินไปซื้อปุ๋ย ก็ต้องขนข้าวไปขาย มันก็ต้องขนออกไปซื้อเหมือนเดิม คล้ายว่าขึ้นอยู่กับโรงสี เวลารู้ว่าชาวนาเดือดร้อนอยากซื้อปุ๋ยเขาก็ลด แต่เวลาเขาอยากได้เพราะมันหายาก เขาก็ขึ้น
สัมภาษณ์แหล่งข่าวเพิ่มเติมโดย สมานฉันท์ พุทธจักร