ผลการวิจัยระบุว่า อาการหูอื้อ ที่ทำให้ได้ยินเสียงก้องหรือเสียงอื้ออึงอื่นๆโดยเฉพาะในทหารผ่านศึก อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมองได้

  • Melinda Smith
    Nittaya Maphungphong

ผลการวิจัยระบุว่า อาการหูอื้อ ที่ทำให้ได้ยินเสียงก้องหรือเสียงอื้ออึงอื่นๆโดยเฉพาะในทหารผ่านศึก อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมองได้

ประมาณกันว่า คนอเมริกันราวๆ 50 ล้านคน และอีก 250 ล้านคนทั่วโลก ได้ยินเสียงอื้อในหู โดยที่คนข้างเคียงไม่ได้ยิน อาการที่ว่านี้เรียกว่า Tinnitus (ทินไนตัส) และยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ นักวิจัยอธิบายว่า Tinnitus มีสาเหตุมาจากเสียงดังที่ทำร้ายระบบโสตประสาท และแม้เสียงดังที่ได้ยินในทีแรกจะหมดไปแล้ว แต่ความตระหนักในเสียงนั้นยังหลอนโสตประสาทอยู่ตลอดเวลา ซึ่งในที่สุดแล้วส่งผลกระทบถึงส่วนอื่นๆของสมองได้

ประมาณกันว่า คนอเมริกันราวๆ 50 ล้านคน และอีก 250 ล้านคนทั่วโลก ได้ยินเสียงอื้อในหู โดยที่คนข้างเคียงไม่ได้ยิน อาการที่ว่านี้เรียกว่า Tinnitus (ทินไนตัส) และยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้

ขณะเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า คนบางคนอาจมีแนวโน้มที่จะมีอาการหูอื้อได้ง่ายกว่าคนอื่น

นาวาอากาศโท Horace Humphries ซึ่งปลดเกษียณจากกองทัพอากาศสหรัฐแล้ว บอกว่า บางคืนนอนไม่ได้เลย และเชื่อว่าอาการหูอื้อที่เป็นอยู่มีอิทธิพลต่อความจำ และการทำอะไรต่ออะไรในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ยังอยู่ใกล้เสียงดังๆไม่ได้ด้วย

นายทหารผู้นี้ประจำการในกองทัพอากาศในสมัยที่ไม่มีกฎเกณฑ์เรื่องการปกป้องหูเวลาทำงานใกล้เครื่องบินเหมือนเดี๋ยวนี้ นาวาอากาศโท Horace Humphries เคยไปรบในเวียตนามและยังจำเสียงระเบิดที่เกิดขึ้นใกล้ๆขณะขับรถจี๊ปกลับฐานทัพได้ และก็ยังได้ยินเสียงอื้ออึงนั้นอยู่จนทุกวันนี้

ประมาณกันว่า 20-40% ของทหารอเมริกันเป็น Tinnitus และอาการหูอื้อนี้จะเป็นมากขึ้นเมื่ออายุสูงขึ้น

นายแพทย์ Jay Piccirillo แห่งมหาวิทยาลัย Washington ในเมือง St. Louis รัฐ Missouri อธิบายว่า Tinnitus มีสาเหตุมาจากเสียงดังที่ทำร้ายระบบโสตประสาท และแม้เสียงดังที่ได้ยินในทีแรกจะหมดไปแล้ว แต่ความตระหนักในเสียงนั้นยังหลอนโสตประสาทอยู่ตลอดเวลา ซึ่งในที่สุดแล้วส่งผลกระทบถึงส่วนอื่นๆของสมองได้ และว่าเสียงที่ได้ยินอยู่ในหูตลอดเวลานั้น ถูกส่งต่อไปยังเปลือกสมองส่วนที่เป็นวัตถุสีเทา และสมองรับไปเหมือนกับว่าเป็นข้อมูลที่มีความหมาย

และเพราะว่ายังไม่มีวิธีรักษา และความรู้เกี่ยวกับการทำงานของสมองในเรื่องมีน้อยมาก นายแพทย์ Jay Piccirillo และทีมงานจึงจะเริ่มต้นงานวิจัย ซึ่งจะสัมภาษณ์และถ่ายภาพสมองของทหาร 200 คนก่อนจะถูกส่งไปประจำการในอิรัคหรือแอฟกานิสถาน และเมื่อทหารเหล่านี้กลับจากการปฏิบัติงาน ก็จะมีการสัมภาษณ์และถ่ายภาพสมองเปรียบเทียบ เพื่อระบุตัวผู้ที่มีอาการหูอื้อ

นายแพทย์ Thanos Tzounopoulos แห่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย Pittsburgh ศึกษาวิจัยสมองของหนูในห้องทดลอง และเห็นด้วยกับสมมุติฐานที่ว่า สมองของคนที่เป็น Tinnitus น่าจะแตกต่างจากสมองของคนที่ไม่มีอาการหูอื้อ

นายแพทย์ผู้นี้บอกว่า งานทดลองที่ได้ทำไป แสดงให้เห็นว่าหนูที่มีอาการหูอื้อ ตอบสนองต่อการกระตุ้นมากกว่าหนูที่ไม่มีอาการที่ว่านี้

แม้จะเป็นที่ยอมรับกันว่าอาการหูอื้อจะเกิดขึ้นเป็นปกติวิสัยในขณะที่มีอายุสูงขึ้น แต่ที่นักวิจัยสนใจค้นคว้าเรื่องนี้มากขึ้นก็เพราะห่วงกังวลว่า คนหนุ่มคนสาวสมัยนี้ ชอบฟังเพลงหรือเครื่องเสียงที่ดังมากๆ และเมื่อมีอายุสูงขึ้น ความเสี่ยงที่จะเป็น Tinnitus ก็จะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย และเมื่อถึงเวลานั้น ก็อาจแก้ไขป้องกันไม่ได้แล้ว