Your browser doesn’t support HTML5
ในภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ มีตัวอย่างมากมายของยานอวกาศที่แล่นผ่านห้วงอวกาศด้วยความเร็วแสง หรือเร็วกว่าแสง แต่ในความเป็นจริง การเดินทางที่เร็วกว่าแสงนั้นจะเป็นไปได้หรือไม่?
งานวิจัยชิ้นใหม่ที่เขียนขึ้นโดยนักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน Erik Lentz ซึ่งเคยทำงานที่มหาวิทยาลัย Goettingen ของประเทศเยอรมนี ได้เสนอทฤษฎีว่า การเดินทางเร็วกว่าแสงมีทางเป็นไปได้อย่างไรบ้าง
Lentz และทีมงานของเขาเชื่อว่า การเดินทางไปยังดวงดาวและดาวเคราะห์ต่าง ๆ อันไกลโพ้นอาจจะเป็นไปได้ในอนาคต แต่จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อยานอวกาศสามารถเดินทางได้เร็วกว่าความเร็วแสง
ทั้งนี้ แสงสามารถเดินทางด้วยความเร็วประมาณ 300,000 กิโลเมตรในหนึ่งวินาที ทฤษฎีสัมพัทธภาพที่มีชื่อเสียงของนักฟิสิกส์ Albert Einstein ชี้ให้เห็นว่า เป็นไปไม่ได้ที่เราจะสามารถเดินทางได้เร็วกว่าแสง
ด้วยเหตุนี้ งานวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับเรื่องนี้จึงมีศูนย์กลางอยู่ที่ทฤษฎีเหนือคำอธิบายที่ปกติธรรมดา ที่เรียกว่า "อนุภาคสมมุติฐาน" และสถานะของสสารที่มีคุณสมบัติทางกายภาพที่ผิดปกติทำให้สามารถเดินทางเร็วกว่าแสงได้
รายงานระบุว่า สสารดังกล่าวอาจไม่สามารถพบหรือไม่สามารถผลิตได้ในปริมาณที่จำเป็น ซึ่งรายงานฉบับใหม่นี้ให้ความสำคัญกับวิธีการแก้ปัญหาทางวิศวกรรมที่เป็นไปได้ มากกว่าการวิจัยเชิงทฤษฎี
การศึกษาวิจัยอธิบายถึงแผนการที่จะทำให้เดินทางได้เร็วมากโดยการสร้างสิ่งที่นักวิจัยเรียกว่าโซลิตอน (solitons) ที่ต่อเนื่องกันเพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับระบบขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพ โซลิตอนเป็นคลื่นขนาดกะทัดรัดที่รักษาความเร็วและรูปร่างในขณะเคลื่อนที่โดยสูญเสียพลังงานเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
นอกจากนี้ การวิจัยยังชี้ให้เห็นว่าวิธีการดังกล่าวทำให้สามารถเดินทางด้วยความเร็วเท่าใดก็ได้ โดยผลของการวิจัยนี้ตีพิพิมพ์อยู่ในวารสาร Classical และ Quantum Gravity ฉบับเมื่อเร็ว ๆ นี้
นักวิจัยกล่าวอธิบายในการแถลงข่าวว่า วิธีการนี้จะใช้โครงสร้างของพื้นที่และเวลาที่กำหนดไว้ในโซลิตอนเพื่อเป็นหนทางในการเดินทางที่เร็วกว่าแสง
Lentz บอกกับสำนักข่าว Reuters ว่าเทคโนโลยี “warp drive” ดังกล่าวสามารถใช้เพื่อลดเวลาในการเดินทางได้มาก ซึ่งนั่นอาจทำให้การเดินทางไปยังวัตถุอวกาศที่ห่างไกลในอนาคตสามารถเป็นไปได้
ทั้งนี้ดาวฤกษ์ที่ใกล้ที่สุดนอกเหนือจากระบบสุริยะของเราคือ Proxima Centauri ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 4.25 ปีแสง หรือระยะทางที่แสงเดินทางในหนึ่งปี
Lentz กล่าวต่อไปว่าการใช้จรวดเชื้อเพลิงแบบดั้งเดิมจะใช้เวลาประมาณ 50,000 ถึง 70,000 ปีที่จะไปถึง Proxima Centauri และว่าการเดินทางโดยใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนนิวเคลียร์จะใช้เวลาประมาณ 100 ปี แต่การเดินทางด้วยความเร็วแสงจะใช้เวลาเพียง 4 ปี 3 เดือนเท่านั้น
แผนการดังกล่าวของนักวิจัยให้ความหวังที่จะสามารถเดินทางได้เร็วกว่าแสงซึ่งอาจนำไปสู่การเดินทางระหว่างดวงดาวที่อยู่ห่างไกลภายในช่วงชีวิตของมนุษย์
Lentz กล่าวว่ายังต้องมีการศึกษาวิจัยอีกมากมายเพื่อที่จะทำให้วิธีการนี้กลายเป็นความจริงขึ้นมานอกจากนี้ยังต้องลดพลังงานที่จำเป็นลงให้อยู่ในระดับของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ทันสมัย และว่าจะต้องมีการสร้างวิธีการที่จะพัฒนาและเร่งความเร็วของโซลิตอนอีกด้วย
Lentz มองว่ากระบวนการวิจัยและพัฒนานี้เป็นเรื่องยาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เขากล่าวว่าอาจมีขั้นตอนเพิ่มเติมเกิดขึ้นในอีกหลายปีข้างหน้าโดยอาจจะมีเวอร์ชั่นที่ใช้งานได้เต็มรูปแบบภายใน 10 ปีข้างหน้า
เขากล่าวเสริมว่าการเดินทางด้วยความเร็วแสงอย่างแท้จริงครั้งแรกสามารถทดสอบได้ในอีกหลายปีหลังจากนั้น ซึ่งตัวเขาเองอยากจะเห็นเทคโนโลยีนี้ใช้ได้จริงในช่วงชีวิตของเขา