Your browser doesn’t support HTML5
นับตั้งแต่การโต้อภิปรายครั้งแรกของผู้สมัครพรรครีพับลิกันเมื่อเดือนที่แล้ว คะแนนนิยมของผู้สมัครแต่ละคนมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยที่คะแนนนิยมของมหาเศรษฐีเจ้าของธุรกิจอสังริมทรัพย์ โดนัลด์ ทรัมพ์ (Donald Trump) นำหน้าผู้สมัครคนอื่นๆ ไปไกล และเขายังคงเป็นศูนย์กลางจุดสนใจในการโต้อภิปรายครั้งที่สองในวันพุธนี้
โดนัลด์ ทรัมพ์ ยังคงเดินหน้าหาเสียงด้วยการใช้คะแนนนิยมที่เหนือผู้สมัครคนอื่นๆ มาเป็นจุดขาย แต่นักวิเคราะห์เชื่อกันว่าในการโต้อภิปรายครั้งที่สองนี้ ทรัมพ์จะตกเป็นเป้าในการโจมตีของบรรดาคู่แข่งที่ล้วนมีคะแนนตามหลัง รวมถึงอดีตศัลยแพทย์ระบบประสาท เบน คาร์สัน (Ben Carson) ที่มีคะแนนนิยมตามมาเป็นที่สอง
เบน คาร์สัน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผู้สมัครที่มาจากนอกวงการเมือง มีมาดของความเคร่งขรึม แตกต่างจากภาพลักษณ์ของโดนัลด์ ทรัมพ์ เช่นเดียวกับผู้สมัครหญิงเพียงหนึ่งเดียวของพรรครีพับลิกัน คาร์ลี่ ฟิออริน่า (Carly Fiorina) อดีตผู้บริหารของ Hewlett Packard ที่ได้รับคำชมเชยอย่างมากในการโต้อภิปรายครั้งแรก
ผู้สมัครทั้งสามคนข้างต้นถือว่ายังใหม่ในแวดวงการเมือง เมื่อเทียบกับผู้สมัครคนอื่นๆ ที่เหลือ แต่นักวิเคราะห์ชี้ว่าการที่คะแนนนิยมของทั้งสามคนกลับแซงหน้าผู้สมัครที่ล้วนดำรงตำแหน่ง ส.ส ส.ว หรือผู้ว่าการรัฐต่างๆ มาแล้ว แสดงให้เห็นว่ามีสมาชิกพรรครีพับลิกันจำนวนไม่น้อยที่ต้องการตัวแทนที่มาจากภายนอกวงการเมือง
เหตุผลดังกล่าวอาจเป็นเรื่องที่ไม่สู้ดีนัก สำหรับผู้สมัครอย่างอดีตผู้ว่าการรัฐฟลอริด้า เจ๊บ บุช (Jeb Bush) ซึ่งถือเป็นบุคคลวงในของการเมืองสหรัฐฯ อีกทั้งเคยมีบิดาและพี่ชายดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาแล้ว โดยช่วงที่ผ่านมา เจ๊บ บุช พยายามหาเสียงโดยมีประเด็นด้านเศรษฐกิจเป็นธงนำ พร้อมไปกับการตอบโต้การโจมตีของโดนัลด์ ทรัมพ์ ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง
ผู้สมัครอีกคนที่คาดว่าจะถูกจับตามองไม่น้อยในการโต้อภิปรายครั้งนี้ คือ ส.ว เท็ด ครู้ซ (Ted Cruz) จากรัฐเท็กซัส ที่เป็นผู้นำในการเรียกร้องต่อต้านข้อตกลงว่าด้วยเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ร่วมกับโดนัลด์ ทรัมพ์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ด้านนักวิเคราะห์การเมืองอเมริกัน สจ๊วต รอทเท่นเบิร์ก (Stuart Rothenberg) ชี้ว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คะแนนนิยมของโดนัลด์ ทรัมพ์ สูงอย่างน่าประหลาดใจ เป็นเพราะเวลานี้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวนมากต้องการแสดงความไม่พอใจต่อทิศทางของรัฐบาล โดยผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่เป็นสมาชิกพรรครีพับลิกัน ต้องการใครสักคนที่จะเป็นกระบอกเสียงเพื่อแสดงความโกรธเคืองที่มีต่อ ปธน.บารัค โอบาม่า และคนๆ นั้นก็คือนายโดนัลด์ ทรัมพ์
ส่วนคุณ สก็อต ฟอล์คเนอร์ (Scot Faulkner) นักวิเคราะห์การเมืองของพรรครีพับลิกัน ชี้ว่าการโต้อภิปรายครั้งที่สองนี้มีความสำคัญต่อผู้สมัครทุกคน ในแง่ของการเชื่อมโยงไปถึงผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในส่วนอื่นๆ มากกว่าเฉพาะที่อยู่ในพื้นที่การหาเสียงของตน
สำหรับการโต้อภิปรายของทางฝั่งพรรคเดโมแครต จะจัดขึ้นครั้งแรกในวันที่ 13 ต.ค
(ผู้สื่อข่าว Jim Malone รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)