รายงานชี้ ทหารเมียนมาเสียพื้นที่เมืองเกือบหมด สวนทางกับฝ่ายต่อต้าน

ทหารกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ขณะลาดตระวันในเมืองเมียวดี (ที่มา: Reuters/แฟ้มภาพ)

การวิเคราะห์จากรายงานของผู้เชี่ยวชาญ ประเมินว่ากองทัพรัฐบาลทหารเมียนมาสูญเสียการควบคุมดินแดนจำนวนมาก สวนทางกับการเคลื่อนไหวของฝ่ายต่อต้านที่เข้าครองพื้นที่และตัดเส้นทางออกสู่ประเทศของคู่ต่อสู้ได้หลายจุด

รอยเตอร์รายงานข้อมูลการวิเคราะห์จากกลุ่ม Special Advisory Council for Myanmar (SAC-M) องค์กรผู้เชี่ยวชาญอิสระนานาชาติที่สนับสนุนการเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมา ที่ประเมินว่า รัฐบาลทหารกรุงเนปิดอว์สูญเสียการควบคุมอย่างสมบูรณ์ในพื้นที่เมืองราว 86% ทั่วประเทศ อันเป็นที่อยู่อาศัยของประชากร 67% จากทั้งหมด 55 ล้านคน

SAC-M ระบุในรายงานว่า “รัฐบาลทหารไม่ได้ควบคุมดินแดนของเมียนมามากเพียงพอที่จะคงไว้ซึ่งการดำเนินหน้าที่หลักของรัฐได้” และ “รัฐบาลทหารได้ละทิ้งดินแดนที่มีนัยสำคัญ และถูกบีบให้อยู่ในสถานะตั้งรับในหลายส่วนของประเทศที่ยังมีกำลังตั้งอยู่”

โฆษกรัฐบาลทหารไม่ตอบรับคำขอความเห็นจากรอยเตอร์

กองทัพเมียนมาหรือ ‘ทัตมาดอว์’ เผชิญกับแรงต่อต้านที่หนักข้อขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2021 และปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างรุนแรง โดยต้องเจอการโจมตีทั้งจากกลุ่มประชาชนติดอาวุธ และกองกำลังชาติพันธุ์ที่สู้รบกันมายาวนานแต่เดิม

ปฏิบัติการ 1027 เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ที่สามกองกำลังชาติพันธุ์ร่วมมือกันโจมตีจนสามารถเข้ายึดพื้นที่สำคัญทางภาคเหนือได้ กลายเป็นหมุดหมายสำคัญที่เปิดเผยถึงความเพลี่ยงพล้ำของทัตมาดอว์ ซึ่งตามมาด้วยการโจมตีในพื้นที่รอบนอกของประเทศทั้งฝั่งอ่าวเบงกอลและชายแดนไทย

องค์กรคลังสมองไม่แสวงผลกำไร Crisis Group ระบุในรายงานว่า “กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ที่มีชัยชนะใน (ปฏิบัติการทางทหาร) ทั้งหลายเหล่านี้กำลังเสริมสร้างการควบคุมพื้นที่บ้านเกิดของตนที่ขยายใหญ่ขึ้น โดยมีหลายกลุ่มที่กำลังอยู่บนหนทางการตั้งมลรัฐอิสระขึ้นมาเอง”

Crisis Group วิเคราะห์ว่า แม้ผู้นำรัฐบาลทหาร พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย จะกระชับการบังคับบัญชาในระดับสูงเอาไว้กับผู้ที่จงรักภักดีกับตน แต่การพ่ายแพ้ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็อาจทำให้ชนชั้นนำในกรุงเนปิดอว์มีความคลางแคลงใจกับผู้นำทหารรายนี้มากขึ้น

“เขา (มิน อ่อง หล่าย) อาจจะยังสามารถอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้ แต่ประเมินจากระดับของความไม่พอใจ เขาก็อาจจะต้องเจอกับแผนการกำจัดเขา”

รายงานจากทั้ง SAC-M และ Crisis Group มีข้อเสนอแนะไปยังประชาคมนานาชาติว่า ควรพิจารณาถึงการขยายเข้าไปมีความสัมพันธ์กับกลุ่มต่อต้านต่าง ๆ มากขึ้น เมื่อประเมินจากอำนาจการควบคุมและบริหารดินแดนในเมียนมาจำนวนมาก รวมถึงพื้นที่ชายแดนแทบทั้งหมด

หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติเปิดเผยว่า จำนวนผู้พลัดถิ่นในประเทศของเมียนมาอยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ ด้วยจำนวนผู้หลบหนีการสู้รบถึง 3 ล้านคน

ยังฮี ลี หนึ่งในสมาชิกก่อตั้ง SAC-M กล่าวว่า “ประชาคมนานาชาติต้องเข้าใจความเป็นจริง และทำงานโดยตรงกับเจ้าหน้าที่ของฝ่ายต่อต้านและภาคประชาสังคม เพื่อนำส่งการบรรเทาทุกข์และความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนไปยังประชาชนเมียนมา”

  • ที่มา: รอยเตอร์