เหตุปะทะในทะเลจีนใต้ คือ บททดสอบการรักษาความสงบของฟิลิปปินส์-จีน

  • VOA

ภาพของผู้สื่อข่าวรายหนึ่งขณะตรวจสอบเว็บไซต์ข่าวของญี่ปุ่นที่รายงานเหตุการณ์ปะทะกันของเรือยามฝั่งฟิลิปปินส์และจีน ในทะเลจีนใต้ ระหว่างการแถลงข่าวของ เหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน เมื่อ 19 ส.ค. 2567

นักวิเคราะห์ประเมินว่า สถานการณ์ความขัดแย้งรอบล่าสุดระหว่างหน่วยยามฝั่งของจีนและฟิลิปปินส์ใกล้ ๆ กับแนวปะการังในพื้นที่พิพาทของทะเลจีนใต้ คือ ส่วนหนึ่งของแผนงานของกรุงปักกิ่งที่ต้องการบีบให้กรุงมะนิลายอมตน พร้อมตั้งข้อสงสัยว่า ทั้งสองฝ่ายจะรักษาท่าทีที่สงบไว้ได้เพียงใด หลังบรรลุข้อตกลงที่จะพยายามหลีกเลี่ยงการปะทะกันไปเมื่อเดือนที่แล้ว

การชนกันของเรือของสองประเทศนี้เมื่อวันจันทร์ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับเรือยามฝั่งของฟิลิปปินส์ ขณะล่องอยู่ใกล้ ๆ กับสันดอนซาบีนาโชล (Sabina Shoal) ซึ่งเป็นจุดที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (exclusive economic zone – EEZ) ของฟิลิปปินส์ แม้จีนจะอ้างว่า พื้นที่แนวปะการังที่อยู่ใต้น้ำบางส่วนนั้นเป็นอาณาเขตของตนก็ตาม

SEE ALSO: ‘ฟิลิปปินส์-จีน’ โทษกันและกัน กรณีเรือชนกันในทะเลจีนใต้

คอลลิน โคห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางทะเลที่ S. Rajaratnam School of International Studies ที่สิงคโปร์ กล่าวว่า “จีนกำลังพยายามคุกคามข่มขู่ฟิลิปปินส์และบีบให้ยอมสั่งให้หน่วยยามฝั่งถอยร่นออกจากรอบ ๆ [แนวปะการังที่เป็นพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้]”

โคห์ บอกกับ วีโอเอ ระหว่างให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ด้วยว่า เหตุการณ์เมื่อวันจันทร์แสดงให้เห็นว่า ยามฝั่งจีนใช้วิธีการอันเป็นระบบเพื่อยัดเยียดคำกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนืออาณาเขตของตนใกล้ ๆ กับสันดอนเซคันด์โธมัสโชล (Second Thomas Shoal) สันดอนสการ์โบโรห์ (Scarborough Shoal) และสันดอนซาบีนาโชล (Sabina Shoal) พร้อมระบุว่า เหตุการณ์ปะทะกันในพื้นที่ 3 จุดที่ว่าเป็นเหตุการณ์เกี่ยวเนื่องกันด้วย

ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์และจีนต่างนำคลิปวิดีโอที่อ้างว่าบันทึกได้จากเหตุการณ์เมื่อวันจันทร์ออกมากล่าวโทษว่า อีกฝ่ายเป็นผู้ผิดที่ “ทำการเดินเรืออันเป็นอันตราย” แต่ผู้เชี่ยวชาญบางรายชี้ว่า การที่กรุงปักกิ่งนำหลักฐานดังกล่าวออกมาเผยแพร่อย่างรวดเร็ว ซึ่งก็คือราว 3 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุ สะท้อนให้เห็นความพยายามของจีนที่จะต้องการเร่งโต้คำกล่างอ้างของฝั่งกรุงมะนิลาให้ได้

เรย์ พาวเวลล์ ผู้อำนวยการของ Gordian Knot Center for National Security Innovation จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) บอกกับ วีโอเอ ทางโทรศัพท์ว่า ทั้งฟิลิปปินส์และจีนได้ปรับเปลี่ยนวิธีการเผยแพร่ข้อมูลของตนเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ มาบ้างแล้ว แต่ “จีนกลับทำการรวดเร็วขึ้นที่จะนำเสนอเวอร์ชันของตัวเองออกมา ทำให้[การโต้กลับของฟิลิปปินส์] ดูช้าไปสนิท”

ภาพที่หน่วยยามฝั่งฟิลิปปินส์เผยแพร่ออกมาแสดงให้เห็นความเสียหายที่ผนังห้องเครื่องยนต์ของเรือ BRP Bagacay หลังชนกับเรือยามฝั่งจีน เมื่อ 19 ส.ค. 2567

ถึงกระนั้น พาวเวลล์มองว่า ความพยายามของมะนิลาในการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์เรือปะทะกันดูมีประสิทธิภาพมากกว่า โดยระบุว่า “จีนพยายามก็อปสิ่งที่ฟิลิปปินส์ทำ [ในแง่ของการเผยแพร่คลิปวิดีโอและภาพภ่ายของเหตุการณ์] แต่ก็ทำไม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพนัก เพราะ(จีน) ไม่ยอมให้สื่อใด ๆ ซึ่งรวมถึงสื่อรัฐบาลจีน เข้ามามีส่วนร่วมในปฏิบัติการณ์ของหน่วยยามฝั่งเลย”

ไม่ว่าจะอย่างไร คอลลิน โคห์ จาก S. Rajaratnam School of International Studies เชื่อว่า กรุงปักกิ่งไม่น่าจะยกระดับความตึงเครียดของสถานการณ์ในทะเลจีนใต้กับฟิลิปปินส์ให้กลายมาเป็นความขัดแย้งทางทหารระหว่างกัน เพราะนั่น “อาจนำมาซึ่งผลกระทบลูกโซ่ต่อ (ความพยายามรวมชาติ)กับไต้หวัน” ได้

  • ที่มา: วีโอเอ