ส่องเทรนด์ใหม่คนอเมริกัน แอบ 'workation’ ทำงานพ่วงพักร้อน

  • VOA

การทำงานทางไกลจากสถานที่ท่องเที่ยวหรือบ้านพักตากอากาศ หรือที่เรียกว่า “workation” โดยที่ไม่บอกให้หัวหน้างานทราบล่วงหน้า กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่คนทำงานชาวอเมริกัน

รูดี รียักสตินส์ ไลฟ์โค้ชชาวอเมริกันผู้ทำงานให้กับหลายบริษัท กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ช่วยผลักดันเทรนด์นี้ทั้งในเรื่องของเทคโนโลยีทำงานทางไกล และการที่ผู้คนกลับมาทบทวนจุดมุ่งหมายและสมดุลในชีวิตของพวกเขาเองอีกครั้ง เช่น ตั้งคำถามว่าสิ่งที่ต้องการที่แท้จริงคืออะไร เงินคือสิ่งที่สุดหรือไม่ เป็นต้น

งานวิจัยชิ้นหนึ่งของ OnePoll สำรวจความเห็นคนทำงานอเมริกันราว 2,000 คน ชี้ว่า เกือบ 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างระบุว่าพวกเขาใช้การทำงานทางไกลเพื่อโอกาสในการเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่าง ๆ โดยไม่บอกให้หัวหน้างานรู้

รียักสตินส์ เชื่อว่า เมื่อพนักงานมีความสุขกับการทำงาน เนื่องจากสามารถทำงานพร้อมไปกับการท่องเที่ยวพักผ่อนด้วยนั้น จะสามารถกระตุ้นประสิทธิภาพการทำงานได้โดยเฉลี่ย 70% และว่า "การเดินทางช่วยฟื้นฟูประสิทธิภาพได้ทั้งร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ ซึ่งหมายถึงความคิดสร้างสรรค์ที่ดีขึ้นด้วย"

ด้วยเหตุนี้ หลายบริษัทในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจึงได้เริ่มเสนอโปรโมชั่นพิเศษสำหรับผู้ที่ workation โดยเฉพาะในช่วงที่ไม่ใช่ฤดูท่องเที่ยว

แซนดี วีบเบอร์ เจ้าของโรงแรม Bayfront Marin House ในเมืองออกุสทีน รัฐฟลอริดา กล่าวกับวีโอเอว่า ตัวเธอเองเที่ยวไปด้วยทำงานไปด้วยมาหลายปี จนตัดสินใจเปิดที่พักที่ให้บริการแก่นักท่องเที่ยวที่ต้องการทำงานไปด้วย ตั้งแต่การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการทำงาน และการเสนอกิจกรรมพิเศษอื่น ๆ สำหรับผู้ร่วมทางที่ไม่ต้องทำงานระหว่างวัน

ส่วนที่เมืองจอร์จทาวน์ รัฐเมน ผู้ดูแลโรงแรม Gray Havens Inn บอกกับวีโอเอว่า ทางโรงแรมเน้นดึงดูดคนทำงานรุ่นใหม่ที่ไม่ชอบทำงานในออฟฟิศ แต่ชอบเปลี่ยนสถานที่ทำงานไปเรื่อย ๆ เช่น ส่วนลดพิเศษสำหรับการเข้าพักหนึ่งสัปดาห์ หรือการจัดตารางเที่ยวและทำกิจกรรมช่วงบ่ายให้ด้วย เป็นต้น

ทั้งนี้ ผลการสำรวจความเห็นคนทำงาน เจน ซี (Gen Z) อายุไม่เกิน 27 ปี พบว่า 51% เลือกเดินทางทริปสั้น ๆ ขณะที่ทำงานไปด้วย โดยไม่แจ้งให้ทางบริษัททราบว่าตนกำลังพักผ่อน

ด้าน รียักสตินส์ ไลฟ์โค้ชชาวอเมริกัน บอกว่า หลายบริษัทที่ตนเคยทำงานด้วยไม่สนใจว่าพนักงานจะทำงานจากที่ไหน แต่ขอให้งานเสร็จตามเวลาก็พอ และว่า "บริษัทควรให้ความสนใจมากกว่า ว่าลูกจ้างของตนมีความสุขหรือเปล่า? และหากพากเขาสามารถทำงานได้ดีไม่ว่าจะทำจากที่ไหน เราควรจะกักตัวพวกเขาไว้ในออฟฟิศต่อไปหรือไม่?"

  • ที่มา: วีโอเอ