เรมิงตัน อาร์มส บริษัทผู้ผลิตอาวุธปืนซึ่งถูกใช้ในเหตุการณ์ยิงหมู่ที่โรงเรียนประถมแซนดี้ ฮุค เมื่อปี ค.ศ. 2012 บรรลุข้อตกลงยอมความกับครอบครัวของเหยื่อในเหตุโศกนาฏกรรมนี้ และยอมชดใช้ค่าเสียหายให้เป็นเงิน 73 ล้านดอลลาร์
ทั้งสองฝ่ายสามารถยอมความกันได้เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยหลายฝ่ายระบุว่า การที่บริษัทผู้ผลิตอาวุธแห่งนี้ตกลงที่จะชดใช้ค่าเสียหายจากเหตุการณ์นองเลือดที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ปืนซึ่งตนผลิตนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก
ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ระบุในแถลงการณ์ว่า “แม้การยอมความชดใช้ค่าเสียหายนั้นไม่ได้ช่วยลบเลือนความเจ็บปวดจากวันแห่งโศกนาฏกรรมนั้นไปได้ แต่นี่คือการเริ่มต้นของกระบวนการต่างๆ ที่จำเป็นเพื่อให้ผู้ผลิตอาวุธปืนมีส่วนมาร่วมรับผิดต่อการผลิตอาวุธสงครามและต่อการทำการตลาดส่งเสริมอาวุธปืนโดยขาดความรับผิดชอบ”
ผู้นำสหรัฐฯ ยังเรียกร้องให้สมาชิกสภาทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับรัฐ รวมทั้งเหยื่อของเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกี่ยวเนื่องกับปืน ให้เดินหน้าขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมเช่นในกรณีของครอบครัวเหยื่อเหตุยิงหมู่โรงเรียนประถมแซนดี้ ฮุค ด้วย
ในเหตุสลดนองเลือดครั้งนั้น นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 20 คน และครูอีก 6 คน ถูกสังหาร ที่โรงเรียนดังกล่าวซึ่งตั้งอยู่ในเมืองนิวตัน รัฐคอนเนตทิคัต โดย อดัม แลนซา วัย 20 ปี ซึ่งใช้ปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติของ เรมิงตัน ยิงกราดขณะเดินเท้าเข้าไปในอาคารของโรงเรียนแซนดี้ ฮุค
ครอบครัวของเหยื่อและผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้นร่วมกันยื่นฟ้อง เรมิงตัน ในปี ค.ศ. 2015 พร้อมย้ำว่า บริษัทแห่งนี้ไม่ควรขายอาวุธทหารที่อันตรายนี้ให้กับประชาชนทั่วๆ ไปเลย ทั้งยังประกาศที่จะมุ่งเน้นหาทางป้องกันเหตุการณ์ยิงหมู่ในอนาคตเป็นหลัก
ขณะที่ เรมิงตัน ไม่ได้ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับการยอมความครั้งนี้ ทางบริษัทแย้งว่า ไม่มีหลักฐานใดๆ ที่ชี้ว่า แผนการตลาดสำหรับปืนไรเฟิลของตนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมหมู่ใดๆ
ผู้ผลิตปืนชื่อดังแห่งนี้ กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า ศาลควรจะยกฟ้องคดีนี้ เพราะกฎหมายของสหรัฐฯ ให้การคุ้มครองธุรกิจปืนในประเทศไว้แล้ว แต่ศาลสูงในรัฐคอนเนตทิคัตพิพากษาว่า การฟ้องร้อง เรมิงตัน ในข้อหาเกี่ยวกับแผนการตลาดปืนไรเฟิลภายใต้กฎหมายของรัฐนั้นสามารถทำได้ ทำให้บริษัทแห่งนี้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลสูงของรัฐบาลกลาง แต่ตุลาการศาลสูงปฏิเสธไม่รับอุทธรณ์
- ข้อมูลบางส่วนมาจาก เอพีและรอยเตอร์