Your browser doesn’t support HTML5
หลายคนบอกว่าเงินซื้อความสุขไม่ได้ แต่บางคนก็แย้งว่า ถ้ามีเงินก็จะช่วยให้เป็นทุกข์น้อยลงได้ ขณะเดียวกัน หลายคนก็กล่าวว่าสุขภาพที่ดีนั้นซื้อหาไม่ได้อย่างทันใจด้วยเงิน แต่สุขภาพที่ดีก็เป็นเรื่องของการลงทุนที่ต้องใช้เงินเช่นกัน
ในขณะที่บางสังคมบางวัฒนธรรมให้ความสำคัญกับเงิน และความสำเร็จในหน้าที่การงาน ว่าเป็นกุญแจไปสู่ความสุขและชีวิตที่ยืนยาว แต่คนอเมริกันหลายคนก็มองว่า ความภาคภูมิใจและความตระหนักในคุณค่าของตัวเอง ไม่ว่าตำแหน่งหรืองานที่ทำจะใหญ่เล็กแค่ไหน หรืออยู่ในสถานะทางสังคมเช่นใด ก็สามารถทำให้เกิดความสุขในชีวิตได้เช่นกัน
นักวิจัยของคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สนใจศึกษาหาคำตอบว่า อะไรทำให้คนเรามีความสุข? โดยติดตามศึกษากลุ่มตัวอย่างแบบต่อเนื่องตลอดชีวิต ตั้งแต่หนุ่มจนแก่โดยเริ่มตั้งแต่ปีพ.ศ. 2481 หรือใช้เวลาราว 80 ปี และพบว่าความมั่งคั่งร่ำรวย สถานะทางสังคม ซึ่งรวมถึงการได้รับการนับหน้าถือตา รวมทั้งตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดีนั้น ไม่จำเป็นจะต้องทำให้เกิดความสุขและสุขภาพที่ดีเสมอไป
อาจารย์ Robert Waldinger ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชที่คณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และเป็นผู้อำนวยการโครงการศึกษาเรื่องนี้ ชี้ว่า สิ่งที่ได้พบจากการศึกษาผู้คนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ก็คือความสัมพันธ์ที่เรามีกับคนอื่นรอบตัวนั้น ส่งผลต่อสุขภาพและความสุขในชีวิตของเรา
อาจารย์ Waldinger ชี้ว่า ในขณะที่การดูแลร่างกายมีความสำคัญ แต่การใส่ใจในความสัมพันธ์ก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะถือเป็นการดูแลตัวเองในอีกลักษณะหนึ่ง และยังเน้นว่า ความสัมพันธ์ที่ดีนั้นไม่เพียงช่วยปกป้องและมีผลดีต่อสุขภาพร่างกายเท่านั้น แต่ยังดีต่อจิตใจและต่อสมองด้วย
อาจารย์ Robert Waldinger อธิบายว่า การมีความสัมพันธ์ที่ดีมีคุณภาพกับคนอื่นนี้ ไม่จำกัดอยู่เฉพาะกับคู่สมรสเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกับเพื่อน ผู้ร่วมงาน และสมาชิกในครอบครัวด้วย และที่สำคัญกว่าก็คือ ความสัมพันธ์ที่เรามีนี้มีบทบาทสำคัญกว่าปัจจัยเรื่องความมั่งคั่ง ฐานะทางสังคม ระดับสติปัญญา หรือพันธุกรรม ในการช่วยสร้างความสุข ทำให้เรามีสุขภาพดีและมีอายุยืนยาว
นอกจากนั้น ความสัมพันธ์ที่ว่านี้ไม่จำเป็นจะต้องเป็นความสัมพันธ์แบบอารมณ์รักหรือกับคนต่างเพศ แต่อาจเป็นความสัมพันธ์กับใครก็ตามในลักษณะที่ทำให้เรารู้สึกสบายใจ สามารถไว้เนื้อเชื่อใจ และพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันได้
และที่สำคัญที่สุดก็คือความสัมพันธ์ที่เรามีกับคนอื่นนี้ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบเสมอไป แต่ขอให้เป็นความสัมพันธ์ในลักษณะที่เรียกได้ว่า มีคนบางคนที่เราสามารถเรียกได้ว่าเพื่อนและพึ่งพาได้ยามที่มีปัญหานั่นเอง