ช้างอาฟริกาถูกล่าเพื่อตัดงาไปขายในเอเชียเพื่อสนองต่อความต้องการงาช้างในอุตสาหกรรมเครื่องประดับที่เพิ่มขึ้น

  • Tunyaporn Soontornvong

ช้างอาฟริกาถูกล่าเพื่อตัดงาไปขายในเอเชียเพื่อสนองต่อความต้องการงาช้างในอุตสาหกรรมเครื่องประดับที่เพิ่มขึ้น

ในปีที่ผ่านมาทางการทั่วโลกยึดงาช้างได้เป็นจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาชี้ให้เห็นว่ามีการล่าช้างป่าในอาฟริกาเพื่อลักลอบตัดงามากขึ้นเพื่อสนองต่อความต้องการงาช้างในอุตสาหกรรมทำเครื่องประดับในหลายประเทศทางเอเชีย

องค์การเอกชนด้านการอนุรักษ์นานาชาติ เปิดเผยว่า ปีพุทธศักราช 2554 ที่ผ่านมาเป็นปีที่เลวร้ายที่สุดสำหรับช้างอาฟริกาเพราะว่าถูกล่าตัดงามากที่สุดเท่าที่เคยมีมา


หน่วยงาน Traffic รายงานในหน้าเวปไซท์ของตนว่าเจ้าหน้าที่ทางการในหลายประเทศยึดงาช้างระหว่างการขนส่งได้ถึง 13 ครั้งตลอดสิบสองเดือนที่ผ่านมา ในแต่ละครั้งได้ของกลางไม่ต่ำกว่าแปดร้อยกิโลกรัม

คุณทอม มิลลิเก็น เจ้าหน้าที่ด้านข้อมูลดาต้าเบสเกี่ยวกับการค้าชิ้นส่วนช้างของหน่วยงาน Traffic ประจำที่ซิมบับเว กล่าวว่า การประมาณตัวเลขขั้นต่ำชี้ว่าหากนำของกลางจากการยึดทั้งสิบสามครั้งไปรวมกันน่าจะอยู่ที่ราว 23 ตัน ปริมาณงาที่ยึดได้ปีที่ผ่านมามากกว่าที่ยึดได้ในปีกอนหน้า ในปีพุทธศักราช 2553 มีการยึดงาช้างเถื่อนระหว่างการขนส่งได้ 6 ครั้งมีของกลางรวมกันเกือบ 10ตัน

ข่าวบีบีซีออนไลน์รายงานว่า มีการห้ามขายงาช้างเมื่อเกือบ 23 ปีที่แล้วเพื่อปกป้องช้างป่าจากการถูกล่า มีผลให้มีการห้ามรัฐบาลอาฟริกานำของกลางงาช้างที่ยึดออกประมูลขายด้วย

คุณทอม มิลลิเก็น เจ้าหน้าที่ของทราฟฟิกแสดงความคิดเห็นว่าอาจเป็นไปได้ที่งาช้างบางส่วนที่ยึดได้ปีที่ผ่านมาเป็นงาช้างที่มาจากของกลางที่รัฐบาลชาติอาฟริกาต่างๆยึดไว้ได้ก่อนหน้านี้ แต่ข้อมูลการค้าชิ้นส่วนสัตว์ป่าและดาต้าเบสจากหน่วยงานสัตว์ป่าหลายหน่วยงานฟ้องว่าทุกปีมีช้างถูกฆ่าหลายพันเชือกเพื่อตัดงาไปขาย ปัญหานี้รุนแรงในอาฟริกากลางโดยเฉพาะในคองโก นอกจากนี้ยังพบการล่าช้างเพื่อตัดงาในซิมบับเว แซมเบีย โมแซมบิกตอนเหนือ แทนซาเนียและเคนย่าอีกด้วย

หน่วยงานทราฟฟิกเห็นว่าการลักลอบค้างาช้างเป็นผลสืบเนื่องจากการลงทุนจากจีนที่หลั่งไหลเข้าไปใช้ทรัพยากรพลังงานและแหล่งแร่ในทวีปอาฟริกา เขากล่าวว่าทวีปอาฟริกาในปัจจุบันมีชาวเอเชียเข้าไปอาศัยและทำงานมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของทวีป เป็นผลให้ทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่าของอาฟริกาถูกคุกคามไปด้วย

งาช้างจากอาฟริกาส่วนใหญ่ถูกส่งไปขายในประเทศจีนและประเทศไทย เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องประดับและงานแกะสลักศิลป์

ตัวเลขของกลางที่ยึดได้เพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมายังส่อถึงความต้องการงาช้างในเอเชียที่เพิ่มขึ้นและกลุ่มมาเฟียเข้าไปเกี่ยวข้องกับการลักลอบค้างาช้างมากขึ้น กลุ่มค้า่งาช้างเถื่อนเหล่านี้มีขีดความสามารถในการลักลอบสูงขึ้น มีการปรับเปลี่ยนเส้นทางการลักลอบตลอดเวลาระหว่างทางอากาศกับทางเรือเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับของเจ้าหน้าที่ในประเทศต่างๆที่อยู่ในเส้นทางการลักลอบ แต่สิ่งที่พบเป็นประจำคืองาช้างที่ตรวจยึดได้มีเส้นทางการลักลอบจากอาฟริกาไปเอเชีย

การยึดของกลางงาช้างครั้งสุดท้ายมีขึ้นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคมปีที่ผ่านมา ทางการมาเลเซียตรวจพบงาช้างอาฟริกาหลายร้อยชิ้น มูลค่าราว 1ล้าน 3 แสนดอลล่าร์สหรัฐ ซุกซ่อนในตู้คอนเทนเนอร์สินค้างานฝีมือส่งจากท่าเรือมุมบาซาในเคนยา มีปลายทางที่ประเทศกัมพูชา

หนังสือพิมพ์วอชิงตันออนไลน์ รายงานว่า ของกลางในการตรวจยึดครั้งใหญ่ๆในปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่เริ่มต้นการเดินทางจากท่าเรือในเคนยากับท่าเรือในเท็นซาเนีย อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ยังไม่เคยสืบสาวไปถึงตัวกลุ่มลักลอบเลยสักครั้งเดียว ทำให้ทางหน่วยงานทราฟฟิกกังวลว่า กลุ่มลักลอบยังคงลอยนวลและเดินหน้าทำผิดกฏหมายต่อไป

เครือข่ายของแก็งลักลอบค้างาช้างใช้เส้นทางขนส่งผ่านชาติเอเชียเพื่อปกปิดต้นกำเนิดของงาช้างอาฟริกา เพื่อให้เข้าใจว่าเป็นงาช้างจากเอเชีย ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา มาเลเซียกลายเป็นประเทศทางผ่านของการลักลอบงาช้างจากอาฟริกาสู่เอเชีย

ไม่ทราบแน่ชัดว่าประชากรช้างทั่วอาฟริกามีอยู่เท่าไหร่ แต่เดอะการ์เดี่ยนออนไลน์ รายงานว่า ประมาณกว้างๆว่าน่าจะอยู่ที่ 400,00-700,000 ตัว

ทาง National Geographic News Watch รายงานว่าสถานการณ์ล่าสัตว์ป่าเพื่อค้าชิ้นส่วนเลวร้ายลง นอกจากช้างแล้ว แรดในอาฟริกาก็ถูกคุกคามจากการลักลอบขายนอแรดจากอาฟริกาด้วย เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วกว่าร้อยตัว