Your browser doesn’t support HTML5
การศึกษาชิ้นใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature International Journal of Science เปิดเผยว่า หนูอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำลายระบบนิเวศทางทะเลได้ ตามการศึกษาของ นิค แกรห์ม อาจารย์มหาวิทยาลัยแลนแคสเตอร์ ในอังกฤษ ซึ่งลงพื้นที่สำรวจและศึกษาระบบนิเวศในหมู่เกาะในพื้นที่ต่างๆ
การศึกษาชิ้นนี้วัดจากประชากรนกทะเล ซึ่งกว่าร้อยละ 90 จะอาศัยอยู่ในแถบหมู่เกาะ โดยลงพื้นที่ในหมู่เกาะชาโกส (Chagos) ในมหาสมุทรอินเดีย เปรียบเทียบจากหมู่เกาะที่มีหนูอาศัยอยู่กับเกาะที่ไม่มีหนูอยู่เลย และพบว่า เกาะไหนมีหนู ที่นั่นมักจะไม่มีนกทะเลบนท้องฟ้า และระบบนิเวศน์บนเกาะจะเงียบสงัด ตรงกันข้ามกับเกาะที่ไม่มีหนู จะเต็มไปด้วยนกทะเล และมีทั้งเสียงและกลิ่นของมูลนกเต็มไปหมด
ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะว่า หนูนั้นไปขัดขวางการขยายพันธุ์ของนก หนูบนเกาะจะกินไข่ของไก่ นก รวมทั้งกินสัตว์ปีกตัวเต็มวัยเสียด้วย ซึ่งกระทบต่อประชากรนกทะเลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทีมนักวิทยาศาสตร์ยังพบว่า นกทะเลมีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเลด้วยเช่นกัน เนื่องจากมูลนกจะกลายเป็นปุ๋ยให้กับพืชพันธุ์ในท้องทะเลได้อีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ตามแนวปะการังต่างๆ
นอกจากนี้ มูลนกเป็นประโยชน์ต่อพืชน้ำจำพวกสาหร่ายทะเล ที่เป็นอาหารของปลาอีกทางหนึ่ง ซึ่งทีมนักวิทยาศาตร์ของอังกฤษก็พบว่า ปริมาณของปลาบริเวณเกาะที่ปราศจากหนูจะมากกว่าเกาะที่มีหนูอาศัยอยู่ราวร้อยละ 50 ทีเดียว