หลังจากที่รัฐบาลจีนปลด ฉิน กัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออกจากตำแหน่งในวันอังคาร นักวิเคราะห์การเมืองและนโยบายต่างประเทศจีนแสดงทัศนะในเรื่องนี้ ท่ามกลางคำถามมากมาย โดยวีโอเอรวบรวมมุมมองที่น่าสนใจไว้ดังนี้
เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องที่คาดหมายไว้ก่อนหรือไม่?
นักวิเคราะห์มองว่าการถูกให้ออกจากตำแหน่งของฉิน กังแสดงถึงความปั่นป่วนภายในของรัฐบาลปักกิ่ง หลังจากที่เขาหายหน้าไปจากสาธารณชนนานหลายสัปดาห์
ด้านหนึ่ง ถือเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ เพราะการปลดนักการทูตระดับสูงเช่นนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อย
ฉิน กัง วัย 57 ปี ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในบุคคลใกล้ชิดของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงและได้รับความเชื่อใจจากผู้นำจีนรายนี้ จนได้รับการเเต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศเมื่อเดือนธันวาคม หลังจากที่เป็นทูตจีนประจำสหรัฐฯ ในช่วงการระบาดของโควิด-19
แต่อีกด้านหนึ่ง การหายตัวไปหนึ่งเดือนของฉิน กัง ทำให้ผู้ติดตามข่าวสารคาดการณ์ต่าง ๆ นา ๆ ว่าอาจเกิด 'อุบัติเหตุทางการเมือง' กับเขา
เขาปรากฎตัวต่อสาธารณะครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน หลังจากที่พบกับเจ้าหน้าที่ประเทศศรีลังกา เวียดนามและรัสเซีย
นักวิชาการอิสระด้านจีนศึกษา วู เชียงกล่าวว่า "อาชีพทางการเมืองของฉินจบไปแล้ว"
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนอะไรบ้าง?
เมื่อทางการปักกิ่งปลด ฉิน กัง ออกจากตำแหน่ง รัฐบาลจีนแต่งตั้ง หวัง อี้ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ กลับมาดำรงตำแหน่งแทนชั่วคราว
นักวิชาการวู เชียงกล่าวว่า "ผมเชื่อว่าหวังจะทำหน้าที่ช่วงเปลี่ยนผ่านเป็นการชั่วคราว ท่ามกลางวิกฤตที่เดือดปุด ๆ ในวงการทูตจีนขณะนี้"
รัฐบาลปักกิ่ง มิได้ระบุสาเหตุของการปลดฉินอย่างกะทันหันครั้งนี้ ท่ามกลางข่าวแพร่สะพัดเรื่องความสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาว และความขัดแย้งทางการเมือง
เอียน ชอง ผู้เชี่ยวชาญด้านการทูตจีนที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติของสิงคโปร์กล่าวว่า "ไม่มีคำอธิบายใด ๆ เกี่ยวกับการปลดครั้งนี้ สิ่งนี้สะท้อนถึงการขาดกระบวนการที่ควรจะเป็น และความไม่แน่นอน รวมทั้งการตัดสินใจตามอำเภอใจ"
ผลกระทบต่อนโยบายต่างประเทศจะเป็นอย่างไรจากนี้?
ณ ช่วงค่ำคืนวันจันทร์ ตามเวลาท้องถิ่นจีน ทางการปักกิ่งลบข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับฉิน ออกจากเว็บไซต์ของกระทรวงต่างประเทศ
บรรยากาศแห่งความไม่แน่นอนเกิดขึ้น ขณะที่จีนพยายามดำเนินกิจกรรมทางการทูตที่เเข็งขันหลังจากการล็อกดาวน์ช่วงโควิดระบาดเป็นเวลา 3 ปี
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาประธานาธิบดี สี จิ้นผิงจัดการประชุมทวิภาคีหลายสิบครั้งกับผู้นำโลก และยังไม่รวมถึงงานที่จีนเป็นเจ้าภาพการประชุมนานาชาติกับพันธมิตรจากหลายส่วนของโลก
SEE ALSO: รมว.คลัง แจเน็ต เยลเลน ยืนยัน ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน ‘มั่นคงแน่วแน่กว่าเดิม’นอกจากนั้น การเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำด้านการต่างประเทศของจีนครั้งนี้มีขึ้นในขณะที่กำลังเกิดความตึงเครียดหลายเรื่องสืบเนื่องจากนโยบายต่างประเทศของจีนที่ฉิน กัง เป็นผู้ผลักดัน
อย่างไรก็ตาม วู เชียง นักวิชาการอิสระ กล่าวว่าจีนไม่น่าจะเปลี่ยนทิศทางนโยบายต่างประเทศแม้ว่าฉิน กัง โดนปลดอย่างปัจจุบันทันด่วน
วู กล่าวว่า "ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ จีนจะยังคงนโยบายการทูตที่อาศัยบทบาทของประมุขของประเทศเป็นหลักในอนาคตอันใกล้"
"ความสำคัญลำดับต้น ๆ ของจีนตอนนี้ยังเป็นเรื่องการประชุมสุดยอดเอเปกที่สหรัฐฯ ช่วงสิ้นปีนี้" เขากล่าว
วู ยังได้เเสดงความเห็นเกี่ยวกับหวัง อี้ ที่จะกลับมาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศอีกครั้ง
"หวังน่าจะต้องปรับวิธีทางการทูตที่เเข็งกระด้างของเขา และหันมาใช้วิธีกลาง ๆ มากขึ้น เพราะนั่นเป็นสิ่งที่จีนต้องการเมื่อต้องเผชิญกลับสิ่งท้าทายที่หลากหลาย ณ ขณะนี้"
- ที่มา: วีโอเอ