ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ได้เตือนชาติตะวันตกเมื่อวันอังคารว่า สมาชิกนาโต้ในยุโรปกำลัง “เล่นกับไฟ” ด้วยการเสนอให้ยูเครนใช้อาวุธจากชาติตะวันตกในการโจมตีรัสเซีย ซึ่งผู้นำรัสเซียระบุว่าสิ่งนี้จะเป็นการจุดชนวนความขัดแย้งโลกได้
ถ้อยแถลงของปธน.ปูติน มีขึ้นหลังจากเลขาธิการองค์การนาโต้ เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก กล่าวกับ The Economist ว่าชาติพันธมิตรนาโต้ควรให้ยูเครนโจมตีรุกเข้าไปในรัสเซียด้วยอาวุธของชาติตะวันตก ซึ่งเป็นมุมมองที่ได้รับการสนับสนุนโดยสมาชิกนาโต้บางประเทศ แต่สหรัฐฯ ไม่ได้ออกตัวสนับสนุนในเรื่องนี้
ผู้นำรัสเซีย กล่าวกับผู้สื่อข่าวทาชเคนต์ อุซเบกิสถานว่า “การยกระดับอย่างต่อเนื่องสามารถนำไปสู่ผลกระทบที่เลวร้ายตามมา” และว่า “หากผลกระทบร้ายแรงเหล่านี้เกิดขึ้นในยุโรป สหรัฐอเมริกาจะทำอย่างไร โดยคำนึงถึงความเท่าเทียมของเราในด้านอาวุธเชิงยุทธศาสตร์? ... มันเป็นเรื่องที่พูดยาก – พวกเขาต้องการความขัดแย้งระดับโลกหรือเปล่าล่ะ?”
ปูตินกล่าวด้วยว่าการโจมตีของยูเครนต่อรัสเซียด้วยอาวุธพิสัยไกลจำเป็นต้องมีระบบดาวเทียม ข้อมูลข่าวกรอง และความช่วยเหลือด้านการทหารจากชาติตะวันตก ดังนั้นชาติตะวันตกจึงมีความเกี่ยวข้องกับสงครามนี้โดยตรง และกล่าวด้วยว่าการส่งทหารฝรั่งเศสเข้าไปในยูเครนอาจเป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่ความขัดแย้งระดับโลกได้
ผู้นำรัสเซีย ยังกล่าวกับสมาชิกนาโต้ในยุโรปด้วยว่า ประเทศเล็ก ๆ “ควรจะตระหนักว่ากำลังเล่นกับอะไรอยู่” ในระหว่างที่ประเทศเหล่านี้มีดินแดนขนาดเล็กและประชากรกระจุกตัวหนาแน่นในประเทศ และว่า “นี่คือปัจจัยที่พวกเขาควรใส่ใจก่อนจะพูดถึงการโจมตีรุกเข้ามาในดินแดนของรัสเซีย”
เป็นเวลามากกว่า 2 ปีแล้วที่รัสเซียส่งทหารรุกรานยูเครนเมื่อปี 2022 จนกลายเป็นเหตุนองเลือดที่สุดในดินแดนยุโรป นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งปธน.ปูตินได้กล่าวถึงความเสี่ยงที่สงครามจะขยายวงกว้างเป็นความขัดแย้งระดับโลก ระหว่างที่ชาติตะวันตกกำลังหาทางรับมือกับการรุกคืบของกองทัพรัสเซียในยูเครน
อีกด้านหนึ่งในวันอังคาร ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน กล่าวว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดนควรเข้าร่วมการประชุมสุดยอดด้านสันติภาพในวันที่ 15-16 มิถุนายนนี้ ที่สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อส่งสัญญาณไปยังประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน และผู้นำโลกคนอื่น ๆ
ผู้นำยูเครน กล่าวระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับนายกรัฐมนตรีเบลเยียม อเล็กซานเดอร์ เดอ ครู ที่กรุงบรัสเซลส์ว่า มี 90 ประเทศที่พร้อมเข้าร่วมการประชุมสุดยอดครั้งนี้ ซึ่งผู้นำโลกคนอื่น ๆ จับตาท่าทีของสหรัฐฯ ในเวทีนี้ และว่าปธน.ปูตินกลัวสิ่งนี้เพราะว่าเขาไม่เคยเชื่อว่าจะมีหลายประเทศเช่นนี้ที่ให้การสนับสนุนการประชุมสุดยอดด้านสันติภาพนี้
ปธน.เซเลนสกี อยู่ระหว่างการเยือนกรุงบรัสเซลส์ ในการบรรลุข้อตกลงความช่วยเหลือทางการทหารรอบใหม่จากเบลเยียม ที่รวมถึงเครื่องบิน F-16 จำนวน 30 ลำ
ทั้งนี้ ทำเนียบขาวไม่ได้กล่าวถึงการเข้าร่วมประชุมสุดยอดนี้ของปธน.ไบเดน และเขาถือเป็นผู้นำเพียงคนเดียวในกลุ่มจี7 ที่ไม่ตอบรับคำเชิญเข้าร่วมประชุมนี้
ในวันเดียวกันนี้ รัฐมนตรีกลาโหมของสหภาพยุโรป ร่วมประชุมที่กรุงบรัสเซลส์เช่นกัน เพื่อหาทางจัดการกับกรณีที่ฮังการีคัดค้านแผนการจัดส่งความช่วยเหลือด้านการทหารรอบใหม่ให้ยูเครน
ขณะที่โฆษกรัฐบาลทำเนียบเครมลิน ดมิทรี เพสคอฟ กล่าวว่าชาติตะวันตกกำลังเสี่ยงต่อการเผชิญหน้าโดยตรงกับรัสเซีย รวมทั้งผลกระทบที่ตามมาซึ่งจะนำไปสู่สงครามโลก หากยอมให้ยูเครนใช้อาวุธชาติตะวันตกในการต่อสู้กับรัสเซีย
- มีเนื้อหาบางส่วนจากเอพี รอยเตอร์ และเอเอฟพี