'ปูติน' เผยพร้อมหารือ 'ไบเดน' หลังเรียกทูตรัสเซียประจำสหรัฐฯ กลับประเทศ

Biden Putin collage

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมื่อวันพฤหัสบดี ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ระบุว่า เขาพร้อมหารือออนไลน์แบบสาธารณะกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ในวันศุกร์หรือวันจันทร์หน้า

ผู้นำรัสเซียกล่าวผ่านทางสถานีโทรทัศน์ทางการของรัสเซียว่า เขาพร้อมหารือความสัมพันธ์ทวิภาคีกับสหรัฐฯ เช่นเดียวกับประเด็นอื่น ๆ เช่น ความขัดแย้งในภูมิภาค โดยจะให้กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียเตรียมการหารือดังกล่าว

ท่าทีของประธานาธิบดีปูตินมีขึ้นหลังรัสเซียเรียกตัวนายอนาโตลี อันโตนอฟ เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหรัฐฯ กลับประเทศชั่วคราว เพื่อหารือถึงความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศที่ถดถอยลง

กระทรวงต่างประเทศรัสเซียระบุเมื่อวันพุธว่า “สิ่งสำคัญที่สุดของเราคือการหาทางแก้ไขความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและสหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่ในช่วงเวลายากลำบาก ขณะที่สหรัฐฯ ทำให้ความสัมพันธ์นี้มาถึงทางตัน เราสนใจที่จะป้องกันไม่ให้ความสัมพันธ์นี้เสื่อมถอยอย่างไม่มีทางหวนกลับคืนหากชาวอเมริกันตระหนักถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง”

การเรียกทูตกลับประเทศนี้มีขึ้นไม่นานหลังจากสถานีโทรทัศน์เอบีซีเผยแพร่เทปบันทึกการสัมภาษณ์ประธานาธิบดีไบเดน เมื่อช่วงเช้าวันพุธตามเวลาท้องถิ่น โดยผู้นำสหรัฐฯ ระบุว่า ประธานาธิบดีปูติน “มีราคาที่จะต้องจ่าย” สำหรับการกระทำอันตรายของเขา

ประธานาธิบดีไบเดนยังกล่าวด้วยว่า เขาบอกผู้นำรัสเซียว่า “ผมว่าคุณไม่มีจิตวิญญาณ” และกล่าวว่า ประธานาธิบดีปูตินตอบเขาว่า “เราต่างเข้าใจซึ่งกันและกัน”

ต่อคำถามของเอบีซีที่ถามว่า เขาเชื่อว่าปูตินเป็นฆาตกรหรือไม่ ไบเดนตอบว่า “ผมเชื่ออย่างนั้น”

Joe Biden

เจน ซากี โฆษกประจำทำเนียบขาว ปฏิเสธที่จะระบุว่าคำตอบดังกล่าวของผู้นำสหรัฐฯ แปลว่าเขาเชื่อว่าผู้นำรัสเซียเป็นมือฆาตกรจริง ๆ หรือเป็นการใช้คำเปรียบเปรย โดยเธอระบุว่า ไบเดนจะยังคงเดินหน้าแนวทางการสื่อสารกับทางรัสเซียต่อไป

ต่อคำถามถึงการที่รัสเซียเรียกทูตกลับประเทศ ซากีระบุว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบันมีแนวทางดำเนินความสัมพันธ์กับรัสเซียต่างจากรัฐบาลชุดก่อน โดยรัฐบาลปัจจุบันจะ “ตรงไปตรงมา” กับประเด็นที่เป็นข้อกังวล

จาลินา พอร์เตอร์ รองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า แม้สหรัฐฯ จะร่วมมือกับรัสเซียเพื่อเสริมสร้างผลประโยชน์ของสหรัฐฯ แต่สหรัฐฯ ก็จะทำให้รัสเซียรับผิดชอบต่อ “การกระทำที่เป็นอันตราย”

รัฐบาลของไบเดนแสดงความสนใจที่จะร่วมมือกับรัสเซียในประเด็นที่เป็นข้อกังวลร่วมกัน เช่น ข้อตกลงอาวุธนิวเคลียร์ฉบับใหม่ และการลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

Putin

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันพุธ รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ประกาศมาตรการลงโทษรัสเซียเพิ่มเติม หลังรัสเซียใช้อาวุธเคมีปราบปรามผู้เห็นต่าง โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ระบุว่า ได้ระงับการส่งออกสินค้าควบคุมด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงไปยังรัสเซีย และระงับใบอนุญาตการส่งออกเป็นกรณีพิเศษต่อรัสเซีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์อะไหล่ เทคโนโลยี และซอฟท์แวร์

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีปูตินมีความสัมพันธ์ฉันมิตรกับสหรัฐฯ มากกว่าในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา ในยุคของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ชื่นชมปูติน และปฏิเสธข้อสรุปจากหน่วยข่าวกรองที่ระบุว่า รัสเซียมีส่วนร่วมกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปีค.ศ. 2016 ที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง