ประท้วงกลางเมืองหลวง 'วอชิงตัน ดีซี' ลุกลามย่านธุรกิจ ผู้ประกอบการร้านชาวไทยโดนทุบร้าน

Sarayuth Komol, An owner of Shushi Aoi Restaurant, fixs plywood frames over the broken window after a night of protests and rioting near the White House in Washington.DC. May 31, 2020.

หลังการประกาศยืดเวลาการห้ามออกนอกเคหะสถานของกรุงวอชิงตันทำให้มีผู้ประท้วงถูกจับกุมเพิ่มกว่า 300 รายมากที่สุดนับตั้งแต่ชุมนุมยืดเยื้อหลายวัน ขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจชาวไทยที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมต่างพยายามปรับตัวหามาตรการมารับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นท่ามกลางความวุ่นวายที่ยังไม่มีทีท่าจะยุติ 

Your browser doesn’t support HTML5

Protests Impact Thai Business

“เหตุการณ์เกิดขึ้นคืนวันเสาร์ที่ 30 พฤษภาคม ตอนกลางคืน เราปิดร้านราวๆ 3 ทุ่ม ออกจากร้านประมาณ 4 ทุ่มครึ่ง เหตุการณ์คงเกิดขึ้นในคืนนั้น พอตื่นเช้ามาที่ร้าน เราก็เห็นแล้วว่ากระจกแตก 3 บาน และมีตำรวจมารอสอบถามที่หน้าร้านแล้ว”

ศรายุทธ โกมล เจ้าของร้านอาหารซูชิ อาโออิ (Sushi Aoi) ในกรุงวอชิงตัน เล่าถึงเหตุการณ์ในช่วงเกิดความวุ่นวายระหว่างการชุมนุมประท้วงเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จนทำให้ร้านของเขาที่อยู่ห่างจากทำเนียบขาว ศูนย์กลางการชุมนมเพียง 3 ช่วงตึก ได้รับความเสียหายจากการถูกกลุ่มผู้ฉวยโอกาสบุกทำลายทรัพย์สิน ทุบหน้าต่างกระจกเสียหาย

Sushi Aoi, Japanese restaurant owned by Thai entrepreneur in downtown Washington DC, has been affected by the protest over the weekend (May 30).

“เราก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี เราไม่ได้อยู่ในร้าน ถึงอยู่ในร้าน เราก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะว่าเราจะไปสู้อะไรกับเขา ก็อะไรมันจะเกิดก็ต้องเกิด แต่ยังดีที่ไม่มีใครเจ็บ ยังดีที่ไม่มีพนักงานอยู่ในร้าน เรากลับบ้านกันหมดแล้ว คือถามว่าเดือดร้อนไหมก็ต้องเดือดร้อนเพราะยังไงเราก็ต้องซ่อมแซม แต่ยังดีใจที่ไม่มีใครเป็นอะไร”

Sarayuth Komol, a restaurant owner, surveys the damage after protests and rioting near the White House in Washington, DC. June 1, 2020.

ย่านธุรกิจกรุงวอชิงตันถูกทุบกระจก ปล้นสดมภ์

เช่นเดียวกับอาคาร ร้านค้า หลายแห่งที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงทำเนียบขาวต่างตกเป็นเป้าการโจมตี และก่อความวุ่นวาย ทำลายทรัพย์สิน และปล้มสดมภ์จากกลุ่มฉวยโอกาสที่ร่วมผสมโรงในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ จนหลายร้านต้องใช้วิธีนำแผ่นกระดานขนาดใหญ่มาปิดกั้นกระจกรอบๆอาคารเพื่อรักษาความปลอดภัยเพื่อป้องกันและรักษาความปลอดภัย

“อาคารรอบๆ นี้โดนหมดน่ะ แถวโน้นปิดหมดเลย ฝั่งตรงข้ามเขาก็โดนหมด ร้านที่ขายของแบรนด์เนม ต่างๆฝั่งโน้นโดนทุบกระจกหมด ไม่มีใครไม่โดน มีบางร้านโดนเอาของไป แต่ทางร้านเราไม่มีอะไรเสียไป เพราะว่า คือเจตนาคือทุบให้สะใจแล้วไป ส่วนที่จะมีเสียหายก็มีทีวีพังไปเครื่องนึง”

Toko dan restoran mulai membersihkan dan memasang papan setelah kerusuhan.

ศราวุธ บอกกับ 'วีโอเอ ภาคภาษาไทย' ด้วยว่า ผู้ประกอบการธุรกิจในกรุงวอชิงตัน กำลังจะมีโอกาสได้เปิดรับลูกค้าบางส่วนในสัปดาห์นี้ หลังทางการมีมาตาการผ่อนคลายมากขึ้นในการระบาดโควิด19 แต่เหตุการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมที่บานปลายดูเหมือนทำให้หลายอย่างต้องแย่ลง

“เพิ่งกำลังเปิด patio (ที่นั่งด้านนอกร้าน) ได้ 3 วัน คนก็เริ่มมา เริ่มโทรมาจองบ้าง สอบถามข้อมูลเปิดร้าน ปิดกี่โมง อย่างวันนี้ก็มีคนโทรมา แต่เราก็ต้องเปิดเร็ว (เพราะคำสั่งเคอร์ฟิว) ที่เราเปิดเพราะว่าลูกค้า เราไม่อยากให้ลูกค้าหายไป เพราะวันใดวันหนึ่งเราก็ต้องกลับมาเปิดอยู่ดี” เจ้าของร้านอาหารชาวไทย กล่าว

APTOPIX America Protests Washington

ธุรกิจอาจเสียหายแต่ไม่เท่ากับเสียใจ

ขณะที่ ชาตรี เกียรติรุ่งฤทธิ์ เจ้าของร้านหาดไทย ร้านอาหารไทยที่ตั้งอยู่ในย่านเดียวกัน บอกว่า แม้ในภาคธุรกิจจะได้รับผลกระทบหรือเสียหาย แต่ก็รู้สึกเสียใจมากกว่าที่มีกลุ่มผู้ไม่หวังดีฉกฉวยโอกาสก่อเหตุร้ายบนเจตนารมณ์ที่ดีของการชุมนุม

“จะว่าหนักขึ้นไหม (จากช่วงโควิด-19) มันก็ไม่หรอกครับ เพราะเราก็สูญเสียธุรกิจมาเยอะพอ เพียงแต่มันไม่สงบ มันก็กระทบกระเทือนมากขึ้นนิดนึง เสียใจมากกว่าครับที่เกิดเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะผมคิดว่าคนส่วนใหญ่แล้ว ออกมาประท้วงด้วยความสงบ และต้องการสร้างภาพในสิ่งที่ดีมากกว่า เสียดายที่คนส่วนน้อย และพวกฉวยโอกาส มาตักตวงผลประโยชน์สำหรับคนที่เดือดร้อนช่วงนี้”

ความปลอดภัยมาก่อน

ประธาน ปานประยูร ผู้จัดการร้านหาดไทย บอกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ต้องระมัดระวังความปลอดภัยมาก่อน แม้คนส่วนใหญ่ที่มาร่วมชุมนุมจะมีเจตนาที่ดี แต่ก็มีบางคนบางกลุ่มที่แฝงตัวเข้ามาสร้างความวุ่นวายทำให้สถานการณ์ต่างๆ ดูเลวร้ายลงไป

”คนที่ออกมาประท้วงด้วยความเป็นธรรม หรือเรียกร้องความยุติธรรม ผมเห็นด้วยมากๆเลยนะ แต่พวกที่ออกมาฉวยโอกาสเพื่อทำลายข้าวของ ทรัพย์สินต่างๆของห้างร้าน หรือร้านอาหารต่างๆ มันแย่มากๆ และก็กระทบโดยตรง ความปลอดภัยครับ อย่างวันที่มาตรการเคอร์ฟิวของกรุงวอชิงตัน เริ่มต้นตั้งแต่ 19.00 น. ไปจนถึง 6.00 น. เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 2 วัน ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อเราโดยตรง เพราะว่าเราจะหายชั่วโมงบริการลูกค้า ส่งอาหารเดริเวอร์รีไปอีก 3 ชั่วโมง”

ผลกระทบผู้ประกอบการไทยในกรุงวอชิงตัน จากเหตุประท้วงลุกลาม

ทางการท้องถิ่นได้ ประกาศมาตรการเคอร์ฟิวรอบใหม่ โดยยืดเวลาตั้งแต่ 19.00 น. ถึง 6 นาฬิกาตั้งแต่วันจันทร์ ที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อยกระดับการควบคุมสถานการณ์การชุมนุม โดยรายงานข่าวระบุว่า หลังการบังคับใช้มาตรการห้ามออกนอกเคหะสถานในคืนแรกมีกลุ่มผู้ชุมนุมควบคุมตัวไปกว่า 300 คน ซึ่งเป็นจำนวนมากกว่าช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาถึง 3 เท่า ที่ถูกควบคุมจตัวแล้วก่อนหน้านี้ราว 100 ราย

การชุมนุมเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับนายจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวสี วัย 46 ปี ที่เสียชีวิตขณะถูกตำรวจจับกุมที่นครมินนีแอโปลิส รัฐมินนิโซตา กลายเป็นเหตุลุกลามไปในหลายเมืองทั่วสหรัฐฯ และถือเป็นเหตุการณ์ประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศในรอบครึ่งศตวรรษ นับตั้งแต่มีการประท้วงให้ยุติสงครามเวียดนามเมื่อราว 50 ปีก่อน