การร่วมประท้วงเรียกร้องให้มีการต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติทั่วโลก เช่นเดียวกับในสหรัฐฯ ยังดำเนินต่อไป ขณะที่ทางการในบางประเทศแสดงความกังวลและเรียกร้องให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมพยายามรักษาระยะห่างระหว่างกัน เพื่อป้องกันไม่ให้การระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่กลับมารุนแรงอีกครั้ง
แม้ทำเนียบนายกรัฐมนตรีเยอรมนียืนยันให้การสนับสนุนการชุมนุมเรียกร้องการต่อต้านการเหยียดสีผิว สเตฟเฟน ไซเบิร์ท โฆษกของนายกรัฐมนตรีเยอรมนี แองเกลา แมร์เคิล กล่าวในวันจันทร์ว่า รัฐบาลมีความกังวลที่เห็นภาพผู้ชุมนุมกลุ่มใหญ่เข้าร่วมประท้วงโดยมีการยืนใกล้ชิดกัน ในขณะที่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศยังดำเนินอยู่
ไซเบิร์ท ระบุว่า การชุมนุมประท้วงอย่างสันติตามสิทธิ์ขั้นพื้นฐาน ขณะที่มีการรักษาระยะห่างทางสังคมนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้พร้อมๆ กันได้
ส่วนที่อังกฤษ ประชาชานนับหมื่นออกมาร่วมเดินขบวนประท้วงในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และบางส่วนร่วมประท้วงหน้าสถานทูตสหรัฐฯ ด้วย
อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน แห่งอังกฤษ ให้ความเห็นว่า การชุมนุมต่อต้านการเหยียดเชื้อชาตินั้นสูญเสียความขลังเพราะพวกอันธพาลไปแล้ว พร้อมประณามการกระทำของผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งที่ล้มและการทำลายอนุสาวรีย์ของ วินสตัน เชอร์ชิล รัฐบุรุษชาวอังกฤษในกรุงลอนดอนด้วย
ขณะเดียวกัน นักการเมืองในฝรั่งเศสยังคงรักษาท่าทีไม่ออกความเห็นมากนักเกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงสนับสนุนการเคลื่อนไหว Black Lives Matter ในสหรัฐฯ เนื่องจากความคล้ายคลึงของเหตุการณ์เสียชีวิตของ อะดามา ทราโอเร่ ชาวฝรั่งเศสผิวสีที่เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อ 4 ปีก่อน โดยครอบครัวของ ทราโอเร่ เชื่อว่าการเสียชีวิตนั้นเกิดขึ้นเพราะถูกตำรวจทำร้าย
และเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา กลุ่มนักร้องเค-ป๊อบชื่อดัง BTS ร่วมกับผู้บริหารของสังกัด บริจาคเงิน 1 ล้านดอลลาร์ให้กับแคมเปญ Black Lives Matter หลังทางกลุ่มทวีตข้อความสนับสนุนการเคลื่อนไหวนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ที่ออสเตรเลีย ประชาชนจำนวนหนึ่งออกมาร่วมชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชนพื้นเมืองออสเตรเลียที่เสียชีวิตระหว่างถูกตำรวจควบคุมตัวเช่นกัน โดยข้อมูลจาก Associated Press ระบุว่า จำนวนชนพื้นเมืองออสเตรเลียนั้นคิดเป็นสัดส่วนเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ของประชากรออสเตรเลียทั่วประเทศ แต่กลับมีสัดส่วนถึง 27 เปอร์เซ็นต์ของผู้ถูกจำขังในเรือนจำ
Your browser doesn’t support HTML5