วิธีการง่ายๆสำหรับการรักษาสุขภาพอนามัย และการรับประทานอาหารที่ไม่มีเชื้อโรคส่วนใหญ่ก็ต้องทำความสะอาดอาหาร และการรักษาภาชนะให้ปลอดจากเชื้อโรค ซึ่งก็ไม่ง่ายนักที่จะทราบว่ามีสิ่งปลอมปนหรือเชื้อโรคติดมากับอาหารที่เรารับประทานไปหรือไม่
แต่นักวิทยาศาสตร์ที่ศูนย์วิจัยกระทรวงเกษตรของสหรัฐ ในเมือง Beltsville รัฐ Maryland กำลังพัฒนาการทดลองเครื่องสแกนไฮเทคที่จะสามารถตรวจจับสิ่งแปลกปลอม เช่น เศษดิน หรือ มูลสัตว์ ที่ปะปนมากับอาหารสดประเภทต่างๆ และอาจจะเป็นที่มาของเชื้อ อี –โคไล ซึ่งเป็นแบคทีเรียซึ่งโดยธรรมชาติจะมีชีวิตอยู่ในลำใส้ของมนุษย์และสัตว์ต่างๆ แม้ส่วนใหญ่แบคทีเรียชนิดนี้จะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่ก็มีบางชนิดที่สามารถทำให้คนเราเจ็บป่วยได้
คุณมูน คิม นักวิทยาศาสตร์ จากศูนย์วิจัยกระทรวงเกษตรของสหรัฐ บอกว่า พวกเขาได้รับคำเรียกร้องขอให้คิดค้นวิธีการตรวจหาสิ่งแปลกปลอมในอาหารมาอย่างมากมาย และได้ยเริ่มต้นทดลองด้วยการใช้ผลแอเปิ้ลมาเป็นตัวอย่างการวิจัย
การทดลองเครื่องสแกนตรวจจับสิ่งปลอมปนที่ว่านี้ใช้เทคโนโลยีการถ่ายภาพความเร็วสูงมาประยุกต์ด้วยการติดอยู่เหนือสายพานที่ลำเลียงผลแอปเปิ้ลผ่านมาในมุมสำหรับให้กล้องถ่ายภาพทีละลูก โดยจะทำงานภายใต้หลักการใช้แสงฉายไปที่ผลแอปเปิ้ล โดยใช้ หลอดไฟสีม่วง หรือหลอดอัลตร้าไวโอเลท ซึ่งมีคุณสมบัติที่จะแสดงให้เห็นสิ่งแปลกปลอมบนผลแอปเปิ้ลได้ชัดเจน ขณะเดียวกันก็จะใช้หลอดแฮโลเจน หรือ หลอดไฟหน้ารถยนต์ ที่ประยุกต์ค่าการสะท้อนแสงอินฟราเรด (Near-Infrared) ในเทคโลยีการถ่ายภาพแบบกล้องดิจิตอล ก็จะทำให้สามารถจับภาพรอยตำหนิบนผิวแอปเปิ้ลได้
นักวิทยาศาสตร์ จากศูนย์วิจัยกระทรวงเกษตรของสหรัฐ คาดหวังว่า การทดลองอุปกรณ์ตรวจหาสิ่งปลอมปนในพืชผักจะเห็นผลสำเร็จได้ในเร็วๆนี้ และคาดว่าจะสามารถพัฒนาเพื่อนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
แม้ในการทดลองจะพบว่าเครื่องสแกนชนิดนี้จะสามารถผลคัดเอาผลแอปเปิ้ลที่เสียทิ้งไปได้ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดเพราะยังคงทำได้เพียงสแกนหรือตรวจลงไปที่ผิวผลแอปเปิ้ลได้เพียงครึ่งใบเท่านั้น และกำลังอยู่ในระหว่างการคิดค้นวิธีการที่จะสามารถสแกนผลแอปเปิ้ลได้ทั่วทั้งผลเพื่อการตรวจสิ่งปลอมปนในผลไม้หรือพืชผักได้ดีขึ้น