Your browser doesn’t support HTML5
เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ที่ผ่านมา ตัวแทนชุมชนชาวไทยในสหรัฐฯ ร่วมกับสำนักอุทยานแห่งชาติรัฐนิวแฮมป์เชียร์ทางตะวันออกเฉียงเหนือ จัดงานเปิดแผ่นจารึกการเสด็จประพาสยอดเขา Mt. Washington เมื่อ 99 ปีก่อนของ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ พระบรมราชชนก และ พระคู่หมั้นในขณะนั้น ซึ่งก็คือ นางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ
สถานที่แห่งนี้เป็นจุดสูงสุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ โดยอยู่เหนือระดับน้ำทะเล 6,288 ฟุต
ในขณะนั้นมีโรงแรม Summit House อยู่บนยอดเขา ซึ่งทั้งสองพระองค์ใช้เป็นที่ประทับค้างคืน หลังจากการเดินทางโดยรถม้าและเดินเท้า ท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็น
ผู้เป็นแกนหลักของการตามรอยประวัติศาสตร์ครั้งนี้ คุณชลธนี แก้วโรจน์ พบว่าโรงแรมดั้งเดิม ซึ่งขณะนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยว ได้เก็บสมุดลงทะเบียนแขกของโรงแรมเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1919 ไว้อย่างสมบูรณ์
นอกจาก คุณชลธนี แก้วโรจน์ ประธานมูลนิธิ The King of Thailand Birthplace Foundation ที่รัฐแมสซาชูเซตส์แล้ว การเดินทางตามรอยการเสด็จประพาสครั้งนี้มีคนเชื้อสายไทย และอาจารย์คณะแพทยศาสตร์จากโรงพยาบาลต่างๆ เช่น โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โรงพยาบาลศิริราช และ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วยสมาคมแพทย์และพยาบาลไทยในสหรัฐฯ ร่วมด้วย จำนวนทั้งหมด 50 ถึง 60 คน
ขณะเดียวกัน ที่งานเปิดแผ่นป้ายจารึก เจ้าหน้าที่รัฐนิวแฮมป์เชียร์อ่านจดหมายจากผู้ว่าการรัฐ นาย คริสโตเฟอร์ ซูนูนู (Christopher Sununu) ที่มีใจความตอนหนึ่งว่า:
“แผ่นจารึกโลหะแผ่นใหม่ที่มีการเปิดในวันนี้ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของอุทยานแห่งชาติ ไม่ใช่เฉพาะต่อประวิติศาสตร์ของรัฐนิวแฮมป์เชียร์ แต่รวมถึงความสำคัญต่อการเป็นส่วนหนึ่งประสบการณ์ของประชาชนทั่วโลก และครั้งหนึ่ง สถานที่แห่งนี้เป็นสิ่งเชื่อมต่อรัฐนิวแฮมป์เชียร์และประเทศไทย”
สิ่งเชื่อมต่อหนึ่งถูกจดไว้ในสมุดบันทึกของลูกค้าโรงแรม ณ วันที่ 11 สิงหาคม เมื่อ 99 ปีก่อน เมื่อครั้งที่เจ้าฟ้ามหิดลกรมหลวงสงขลานครินทร์ มีพระชันษา 27 ปี และพระคู่หมั้น นางสาวสังวาลย์ อายุ 19 ปี
บนหน้ากระดาษแผ่นใหญ่ ชื่อของ “M. Songkla” และ “Sangwan Talapat” จากประเทศ “Siam” ปรากฏอยู่ในฐานะแขกของห้องเลขที่ 6 และ 10 ตามลำดับ
ซาราห์ สจ๊วต ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมแห่งรัฐนิวแฮมป์เชียร์ กล่าวว่า ความพิเศษของกิจกรรมนี้คือการที่คนไทยมารวมตัวกันที่ยอดเขา Mt. Washington เนื่องจากความรู้สึกร่วมกันว่าเป็นสถานที่ที่มีความหมายทางจิตใจ
ที่ผ่านมามูลนิธิ The King of Thailand Birthplace Foundation ได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในรัฐแมสซาชูเสตส์ และรัฐนิวแฮมป์เชียร์ เพื่อติดแผ่นป้ายรำลึกรวมทั้งหมด 13 แห่ง ณ สถานที่ตามรอยประวัติศาสตร์ ที่เกี่ยวโยงกับการท่องเที่ยวและใช้ชีวิตของครอบครัวของเจ้าฟ้ามหิดล ขณะที่พระองค์ทรงศึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุข อยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ใกล้นครบอสตัน
(รายงานและเรียบเรียงโดยรัตพล อ่อนสนิท)