วันจันทร์ที่ 3 ของเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี คือ วันประธานาธิบดีในสหรัฐฯ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากการเฉลิมฉลองวันคล้ายวันเกิดของ จอร์จ วอชิงตัน หนึ่งในบิดาผู้ก่อตั้งประเทศ (Founding Fathers) แม้ว่า ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ ผู้นี้จะไม่ชอบให้มีการจัดงานใหญ่โตเอิกเกริกก็ตาม แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไปนับร้อยปี วันหยุดรัฐบาลกลางวันนี้กลับกลายมาเป็นช่วงเวลาวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ยาวขึ้นและมาพร้อมกับเทศกาลลดราคาสินค้าครั้งใหญ่ประจำปีไปแล้ว
การเปลี่ยนแปลงของความหมายของวันประธานาธิบดี (Presidents’ Day) ในสายตาของชาวอเมริกันเป็นสิ่งที่นักประวัติศาสตร์ได้แต่ทำใจที่วันของการฉลองชีวิตการทำงานและความสำเร็จของ จอร์จ วอชิงตัน ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1700 กลายมาเป็นวันสำคัญของลัทธิบริโภคนิยมดังเช่นในปัจจุบัน
อเล็กซิส โค นักประวัติศาสตร์ผู้ประพันธ์หนังสือที่มีชื่อว่า "You Never Forget Your First: A Biography of George of Washington” กล่าวว่า “วันนี้ควรจะเป็นเรื่องของการฉลองให้กับประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ” แต่สิ่งเดียวที่ถูกสร้างเพื่อระลึกถึงอดีตผู้นำผู้ก่อตั้งประเทศคือ อนุสาวรีย์รูปทรงแท่งโอเบลิสก์ที่ทำด้วยหินแกรนิต หินอ่อนและหินทรายซึ่งตั้งอยู่ใจกลางกรุงวอชิงตัน ไม่เหมือนกับกรณีของอดีตประธานาธิบดีเอบราฮัม ลินคอลน์ และอดีตประธานาธิบดีโธมัส เจฟเฟอร์สัน ที่มีอนุสาวรีย์รูปปั้นเหมือนจริง
วันเกิดของ จอร์จ วอชิงตัน
เอกสารทางการระบุว่า จอร์จ วอชิงตัน เกิดเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1732 ในรัฐเวอร์จิเนีย แม้ว่าตามปฏิทินจูเลียนโบราณที่มีการใช้งานในช่วง 20 ปีแรกของอดีตผู้นำสหรัฐฯ รายนี้ วันเกิดของวอชิงตันควรจะเป็นวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ก่อนที่จะมีการนำปฏิทินเกรกอเรียนมาใช้กันอย่างกว้างขวางเนื่องจากเที่ยงตรงกว่า ในปี ค.ศ. 1752 ซึ่งทำให้มีการเพิ่มวันเกิดเข้าไปอีก 11 วัน
แต่ข้อมูลจากเว็บไซต์ mountvernon.org ซึ่งเป็นขององค์กรที่ดูแลพื้นที่บ้านพักของปธน.คนแรกของสหรัฐฯ ผู้นี้ระบุว่า วอชิงตันไม่ค่อยสนใจวันเกิดของตนเองสักเท่าใด และไม่มีบันทึกใด ๆ ที่ระบุว่า มีการจัดงานหรือกิจกรรมฉลองวันเกิดที่เมาท์เวอร์นอน (Mount Vernon) ซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งของบ้านพักของเขาเลย
แต่ผู้ที่จัดงานฉลองวันเกิดให้วอชิงตันนั้นส่วนใหญ่จะเป็นเพื่อนร่วมงานในรัฐบาล ขณะที่อดีตผู้นำยังอยู่ในตำแหน่งมากกว่า ขณะที่ สภาคองเกรสลงมติให้มีการประกาศหยุดพักงานสั้น ๆ เพื่อฉลองวันเกิดให้วอชิงตัน ยกเว้นในวันคล้ายวันเกิดสุดท้ายในช่วงที่อยู่ในตำแหน่งเนื่องจากปัญหาภายในรัฐบาล
หลังการอสัญกรรม
จอร์จ วอชิงตัน นั้นตระหนักดีถึงบทบาทของตนในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกหลังประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ โดยตนเองไม่ได้ต้องการถูกมองและได้รับเกียรติเสมอกษัตริย์ อ้างอิงข้อมูลจาก เซธ บรุกเกอร์แมน ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทมเพิล (Temple University) ในฟิลาเดลเฟีย
อย่างไรก็ดี มีการผลิตของที่ระลึกประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 1 นี้ออกมามากมายหลังการอสัญกรรมของเขาในปี 1799 เมื่อเขามีอายุ 67 ปี โดยมีการออกแบบถ้วยชามที่มีการแกะสลักภาพของวอชิงตันในลักษณะคล้าย ๆ เทพจุติกลับขึ้นสรวงสรรค์อยู่ดี
ประกาศตั้งวันหยุดอย่างเป็นทางการ
เวลาผ่านไปจนถึงปี 1832 ซึ่งเป็นปีครบรอบวันคล้ายวันเกิดอายุ 100 ปีของวอชิงตันที่สภาคองเกรสประกาศจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมารับผิดชอบการจัด “ขบวนพาเหรด งานกล่าวสุนทรพจน์และงานเทศกาล” ระดับชาติ เพื่อฉลองวันเกิดของประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ ตามข้อมูลจาก Congressional Research Service
ต่อมา ในปี 1879 มีการประกาศให้วันคล้ายวันเกิดของ จอร์จ วอชิงตัน เป็นวันหยุดตามกฎหมายสำหรับลูกจ้างและเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางในเขตกรุงวอชิงตัน โดยใช้ชื่อว่าเป็นวันเกิดของวอชิงตัน (Washington’s Birthday) แต่ก็มีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า วันประธานาธิบดี
ทั้งนี้ มีผู้แย้งว่า การประกาศวันหยุดที่ว่านี้ มีจุดประสงค์เพื่อฉลองวันคล้ายวันเกิดของอดีตประธานาธิบดีเอบราฮัม ลินคอล์น ซึ่งตรงกับวันที่ 12 กุมภาพันธ์ด้วย
ห้องสมุดคองเกรส (Library of Congress) ระบุว่า ในเวลานั้น มีบางรัฐ เช่น อิลลินอยส์ ประกาศให้วันที่ 22 กุมภาพันธ์เป็นวันหยุดทั่วไปด้วย ขณะที่ บางรัฐจัดงานฉลองวันเกิดของทั้งลินคอล์นและวอชิงตัน ในฐานะวันประธานาธิบดีด้วย
การขยับเปลี่ยนมาที่ลัทธิบริโภคนิยม
ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1960 วันเกิดของวอชิงตันถือเป็น 1 ใน 9 วันหยุดรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ ที่มีการกำหนดให้เป็นวันหนึ่งของสัปดาห์หนึ่ง ๆ แทน ตามข้อมูลจากบทความในนิตยสาร Prologue ของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ (National Archives) ที่มีการตีพิมพ์ในปี 2004
ต่อมา สภาคองเกรสจัดการลงมติให้มีการเลือกให้วันหยุดรัฐบาลกลางบางวันเป็นวันจันทร์ของสัปดาห์ของเดือนหนึ่ง ๆ แทน หลังมีความกังวลส่วนหนึ่งว่า พนักงาน เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างรัฐบาลมักขาดงาน ในกรณีที่วันหยุดตรงกับวันกลางสัปดาห์ แต่ก็มีการให้เหตุผลเสริมว่า การทำให้วันหยุดสุดสัปดาห์ยาวขึ้นเป็น 3 วันนั้นจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจองประเทศ ทั้งในส่วนของธุรกิจค้าปลีกและการท่องเที่ยว จากการเปลี่ยนแปลงนี้
และในปี 1971 มีการประกาศใช้กฎหมาย Uniform Monday Holiday Act ที่มีผลให้ขยับ “วันประธานาธิบดี” มาเป็นทุกวันจันทร์ที่ 3 ของเดือนกุมภาพันธ์อย่างถาวร โดย ซี แอล อาร์เบลไบด์ ที่เป็นนักประวัติศาสตร์ซึ่งร่วมเขียนบทความในนิตยสาร Prologue ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ช่วยกระตุ้นยอดขายต่าง ๆ ในประเทศอย่างมากมาย
เซธ บรุกเกอร์แมน ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ ติงว่า จอร์จ วอชิงตัน และบิดาผู้ก่อตั้งประเทศรายอื่น ๆ “น่าจะรู้สึกกังวลหนักมาก” ที่วันหยุดราชการกลายมาเป็นพื้นที่ทำกินของภาคการค้าพาณิชย์และธุรกิจเอกชนแทน เพราะบุคคลสำคัญเหล่านี้ “มองพวกบริษัทต่าง ๆ ว่าเป็นเหมือนสาธารณรัฐเล็ก ๆ ที่อาจเป็นภัยต่ออำนาจของ “สาธารณรัฐ” (สหรัฐอเมริกา)” นั่นเอง
- ที่มา: เอพี