ศาลเมียนมาเตรียมรับฟังอุทธรณ์คดี 'ซูจี' นักวิเคราะห์เชื่อเป็นการแสดงทางการเมือง

  • VOA

FILE - Win Myint, left, since ousted as Myanmar's president, speaks to Aung San Suu Kyi after the fourth anniversary of Nationwide Cease-fire Agreement at the Myanmar International Convention Center in Naypyitaw, Myanmar, Oct. 28, 2019.

รายงานว่า ศาลฎีกาของเมียนมาจะรับฟังคำอุทธรณ์ของออง ซาน ซู จี อดีตผู้นำที่ถูกโค่นอำนาจหลังการรัฐประหาร จากคำตัดสินของเธอในคดีทุจริต โกงการเลือกตั้ง และละเมิดกฎหมายความลับของรัฐ

ออง ซาน ซู จี ถูกจับเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 หลังกองทัพเมียนมาโค่นอำนาจรัฐบาลพลเรือน ที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งเข้ามาใหม่ จนทำให้เมียนมาก้าวเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งรุนแรงอีกครั้ง

อดีตผู้นำพรรคเอ็นแอลดี วัย 77 ปี ถูกตัดสินให้รับโทษจำคุกรวม 33 ปี หลังจากต้องโทษในคดีต่างๆ กว่า 12 คดี ขณะที่ ออง ซาน ซู จี ยังคงปฏิเสธข้อกล่าวหา และประณามว่าการดำเนินคดีกับเธอและพรรคพวกนั้นมีแรงจูงใจทางการเมือง

รายงานระบุว่า แม้ศาลฎีกาของเมียนมา จะประกาศเมื่อวันพุธว่าจะเตรียมรับฟังคำอุทธรณ์ของเธอ แต่วิน มินต์ ทนายความของนางซูจี กล่าวว่ายังไม่มีการระบุวันเวลาการรับฟังคำอุทธรณ์แต่อย่างใด ตามรายงานจากรอยเตอร์และเอพี

แหล่งข่าวกล่าวกับรอยเตอร์ด้วยว่า ผู้พิพากษายอมรับข้อเสนอเพื่อรับฟังคำอุทธรณ์ใน 7 คดีของนางซูจีแล้ว

ขณะนี้ ออง ซาน ซู จี ถูกควบคุมตัวในเรือนจำ ที่กรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงของเมียนมา หลังถูกศาลตัดสินในความผิดในหลายกระทง ตั้งแต่ข้อหาการนำเข้าและครอบครองวิทยุสื่อสารอย่างผิดกฎหมาย ไปจนถึงการปลุกระดมและละเมิดข้อปฏิบัติในช่วงการระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัส นอกจากนี้ คำอุทธรณ์ที่ยื่นต่อศาลสูงของเมียนมาโดยทนายความของเธอ ส่วนใหญ่มักถูกปฏิเสธ

เอพี รายงานว่า ในครั้งนี้ศาลฎีกาเห็นพ้องที่จะรับฟังคำอุทธรณ์ในคดีทุจริต และพิจารณาคำร้องขอลดโทษในคดีที่เกี่ยวข้องความมั่นคงของเมียนมา และคดีทุจริตการเลือกตั้ง ตามรายงานของเอพี

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์กล่าวว่า การเคลื่อนไหวล่าสุดของศาลฎีกาในครั้งนี้ เป็นเพียงการแสดงทางการเมืองที่ออกแบบภาพลักษณ์ให้รัฐบาลทหารเมียนมาดูผ่อนปรนลงมากกว่าความเป็นจริง

ซอ ตูเซ็ง (Zaw Tuseng) ประธานสถาบันนโยบายเมียนมา กล่าวกับวีโอเอ ว่า กองทัพต้องการสร้างภาพลักษณ์ของการเคารพหลักนิติธรรม รวมถึงสิทธิในการอุทธรณ์ แต่ขณะเดียวกัน กองทัพก็ควบคุมอำนาจได้ทั้งหมด ทั้งฝ่ายบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติ ซึ่งในเรื่องนี้อาจเป็นผลตอบสนองจากแรงกดดันที่มาจากสมาคมอาเซียนและประชาชนชาวเมียนมา”

ไว ไว นู (Wai Wai Nu) นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญา และผู้ก่อตั้งเครือข่ายสตรีเพื่อสันติภาพ (Women's Peace Network) มองว่า การเคลื่อนไหวในครั้งนี้น่าจะเป็นอุบายจากกองทัพเพื่อแสดงให้ประชาคมระหว่างประเทศเห็นว่า มีความก้าวหน้าและได้รับความชอบธรรมอย่างแท้จริง โดยเธอย้ำว่า การแสดงทางการเมืองแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับกองทัพเมียนมา

สำนักข่าว RFA หรือ เรดิโอฟรีเอเชีย (Radio Free Asia) รายงานว่าในสัปดาห์ของการเฉลิมฉลองวันปีใหม่ของเมียนมา ทางกองทัพได้ประกาศปล่อยนักโทษมากกว่า 3,000 คน แต่กลับมีนักโทษคดีการเมืองเพียงคนเดียว คือ จ่อ วิน อดีตรัฐมนตรีกระทรวงนโยบายและการคลังเท่านั้น ที่ได้รับการอภัยโทษ

ไว ไว นู นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญา เชื่อว่า การรับฟังคำอุทธรณ์ที่เกิดขึ้นอาจเป็นสัญญาณว่ากองทัพอาจมีการเปิดการเจรจากับออง ซาน ซู จี และอาจเป็นความพยายามหาทางออกในเรื่องนี้อยู่

  • ข้อมูลบางส่วน จากรอยเตอร์และเอพี