ทีมกฎหมายของสองพรรคเตรียมพร้อมหากต้องต่อสู้ผลการเลือกตั้งปธน.อเมริกันในชั้นศาล

Donald Trump and Joe Biden combo

Your browser doesn’t support HTML5

Post Election Litigation

วันนี้เป็นวันที่คนอเมริกันจำนวนมากรอคอย เพราะเป็นวันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประชาชนราว 100 ล้านคนใช้สิทธิ์ล่วงหน้าก่อนวันจริงไปเรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะมีอีกหลายสิบล้านที่ออกมาลงคะเเนนในวันนี้

ท่ามกลางความคึกคักที่เกิดขึ้น ณ สนามเลือกตั้ง และกลยุทธ์หาเสียงที่ทีมวางแผนของทั้งสองฝ่ายนำมาใช้ ศึกครั้งนี้ยังเกี่ยวข้องกับทนายด้วย

องค์ประกอบและกระบวนการต่างๆ ในการเลือกตั้งที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้เกิดรูปแบบการเลือกตั้งที่ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ ที่อาจเป็นข้อถกเถียงทางกฏหมายได้ เช่นจะยืดเวลาการรับบัตรเลือกตั้งเท่าใด ถ้าบัตรที่ถูกส่งมาทางไปรษณีย์ยังมาไม่ถึงศูนย์นับคะเเนน หรือจะอนุณาตให้รับบัตรที่คนใช้สิทธิ์ขับรถมาหย่อนบัตร แบบ drive-thru ได้หรือไม่

จัสติน ไรเมอร์ หัวหน้าฝ่ายกฎหมายของคณะกรรมการพรรครีพับลิกัน กล่าวกับวีโอเอผ่านอีเมลว่า ทางพรรคเตรียมการสำหรับความเป็นไปได้ที่อาจมีการต่อสู้ทางกฎหมายหลังวันเลือกตั้งไว้นานแล้ว คือราวกว่าหนึ่งปี และเขามั่นใจในการเตรียมตัวมาอย่างดีของฝ่ายตน

โฆษกของทีมเลือกตั้งทางฝั่งเดโมเเครตของโจ ไบเดน ยังไม่มีถ้อยแถลงในเรื่องนี้หลังจากที่ทางวีโอเอสอบถามไป อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม มาร์ค เอลเลียส ทนายฝั่งพรรคเดโมเเครต กล่าวหาพรรครีพับลิกันว่าได้ใช้เงิน 20 ล้านดอลลาร์ ในการสร้างความยากลำบากต่อการใช้สิทธิ์ ในช่วงที่กำลังเกิดการระบาดของโควิด-19

ประเด็นการต่อสู้ทางกฎหมาย อาจเกิดขึ้นจากเรื่องการนับคะเเนนใหม่ ทั้งนี้ในอเมริกามี 21 รัฐที่มีกฎว่าต้องนับคะเเนนใหม่ หากว่าคู่แข่งมีคะเเนนต่างกันไม่ถึง 1% ในรัฐอื่นๆ ฝ่ายที่แพ้เลือกตั้ง สามารถขอให้มีการนับคะเเนนใหม่ได้

หากว่ามีการนับคะเเนนใหม่แล้ว ผลเลือกตั้งไม่เปลี่ยนแปลง ฝ่ายที่แพ้อาจเดินเรื่องแย้งผลการนับคะเเนนผ่านช่องทางกฎหมายได้

ศาสตราจารย์ เจมส์ การ์ดเนอร์ แห่งมหาวิทยาลัย University of Buffalo กล่าวว่า ข้อโต้แย้งทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นในขั้นตอนนี้อาจเป็นเรื่อง ความน่าเชื่อถือของแนวทางปฎิบัติเกี่ยวกับการนับคะเเนน หรือการจำเเนก “บัตรดี” และ “บัตรเสีย” เขากล่าวว่าการต่อสู้ทางกฎหมายในลักษณะนี้อาจทำให้เรื่องขึ้นสู่ศาลสูงสหรัฐฯได้

ณ เวลานี้ มีคดีความที่เข้าสู่กระบวนการศาลทั้งระดับมลรัฐและรัฐบาลกลางเเล้ว กว่า 300 คดีที่เกี่ยวข้องการการเลือกตั้งขั้นต้นและการเลือกตั้งทั่วไป หลายคดีเกี่ยวกับการโหวตทางไปรษณีย์ หรือการเปลี่ยนแปลงสถานที่ลงคะเเนนเนื่องจากการระบาดของโคโรนาไวรัส

ในสัปดาห์นี้ศาลสูงสหรัฐฯ อนุญาตให้เจ้าหน้าที่เลือกตั้ง ในรัฐ เพนซิเวเนียและนอร์ธเเคโรไลน่าที่มีการเเข่งขันอย่าสูสีระหว่างทรัมป์และไบเดน รับบัตรที่มาถึงสถานที่นับคะเเนน 3 ถึง 6 วันหลังวันเลือกตั้ง 3 พฤศจิกายนได้ ก่อนหน้านั้นศาสสูงปฏิเสธการยืดเวลา 6 วันของรัฐวิสคอนซิน

นอกจากนั้นการระบุบัตรเสียจากการลงคะเเนนทางไปรษณีย์ ยังอาจเป็นประเด็นร้อนทางกฎหมายด้วย

ในอดีตเมื่อมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ บัตรที่ถูกส่งทางไปรษณีย์นับเเสนๆ ใบ ไม่ถูกนับคะเเนนด้วยเหตุผลที่ต่างกัน เช่น มาถึงช้า หรือมีลายเซ็นต์ไม่ตรงกับลายเซ็นต์ในฐานข้อมูล ในปีนี้ บัตรเลือกตั้งในรัฐ นอร์ธแคโรไลนาจำนวนกว่า 10,000 ในอาจถูกคัดทิ้ง และเหตุการณ์เดียวกันอาจเกิดขึ้นกับบัตรละคะเเนน 15,000 ใบในฟลอริดา

ทั้งนี้ รัฐต่างๆ 30 รัฐ รวมถึงฟลอริดา อนุญาตให้มีการเเก้ไขความผิดพลาดทางเทคนิคของบัตรเสียได้ แต่ที่เหลือ 20 รัฐไม่มีนโยบายดังกล่าว นั่นหมายความว่าเจ้าหน้าที่นับคะเเนนอาจคัดบัตรของประชาชนทิ้ง โดยเจ้าตัวไม่มีทางทราบ

ผู้สันทัดกรณีระบุว่า ประเด็นที่ว่าผู้ลงคะเเนนเสียงล่วงหน้าควรได้รับโอกาสให้แก้ไขข้อผิดพลาดบนบัตรของตนหรือไม่ อาจทำให้เกิดการต่อสู้ทางกฎหมายขึ้น

อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องสถานที่เลือกตั้ง เมื่อวานนี้มีคำสั่งศาลรัฐบาลกลาง เรื่องบัตรเลือกตั้งในรัฐเท็กซัส ที่ผู้ใช้สิทธิ์ลงคะเเนนเเบบขับรถมาหย่อนบัตรหรือแบบ drive-thru

ผู้พิพากษาปฏิเสธคำฟ้องจากผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันที่ต้องการให้ศาลประกาศให้การลงคะแนนเลือกตั้งด้วยวิธี drive-thru ในนครฮิวสตัน ซึ่งมีผู้ใช้สิทธิ์ไปแล้วราว 127,000 คน เป็นโมฆะ

ศาลสูงรัฐเท็กซัส ตัดสินใจออกคำสั่งเมื่อวันอาทิตย์ ปฏิเสธคำร้องของ สตีเวน โฮทซี นักเคลื่อนไหวทางการเมืองหัวอนุรักษ์นิยมร่วมกับกลุ่มผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกัน ให้ประกาศว่า การลงคะแนนเสียงด้วยการ drive-thru นั้นผิดกฎหมายเลือกตั้งของรัฐ

ทั้งนี้ แจเร็ด วูดฟิล ทนายความของนายโฮทซี เผยว่า ลูกความของตนมีแผนจะนำเรื่องนี้ไปฟ้องต่อศาลสูงสหรัฐฯ ต่อไป

คดีความนี้เกิดขึ้นจากการที่ทางการของ แฮร์ริส เคาน์ตี้ พิจารณาความเสี่ยงจากการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ และอนุมัติให้ วิธีการลงคะแนนเลือกตั้งดังกล่าวเป็นทางเลือกสำหรับผู้มีสิทธิ์ในเคาน์ตี้นี้ ซึ่งมีประชากรถึง 4.7 ล้านคนและถือเป็นเขตปกครองระดับ เคาน์ตี้ ที่มีประชากรหนาแน่นเป็นอันดับที่ 3 ของสหรัฐฯ

นับตั้งแต่เปิดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้ามา แฮร์ริส เคาน์ตี้ ซึ่งเป็นเขตที่สนับสนุนพรรคเดโมแครต ได้เปิดจุดรับการลงคะแนนแบบ drive-thru แล้วถึง 10 จุด

รัฐเท็กซัสที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ เป็นที่รู้กันดีว่าเป็นพื้นที่ของพรรครีพับลิกัน แต่ผลสำรวจความนิยมในช่วงที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า คะแนนสนับสนุนประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และ อดีตรองประธานาธิบดี โจ ไบเดน นั้นสูสีมาก และในปีนี้ มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ล่วงหน้าแล้วกว่า 9.7 ล้านคน ตามข้อมูลของ U.S. Elections Project ณ มหาวิทยาลัยแห่งฟลอริดา ซึ่งสูงกว่าสถิติผู้ใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อ 4 ปีก่อนไปเรียบร้อยแล้ว