Your browser doesn’t support HTML5
ถึงแม้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่จะมีความเห็นค่อนข้างตรงกันว่าเมื่อการระบาดของโควิด-19 สามารถควบคุมได้แล้วเศรษฐกิจโลกน่าจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าการฟื้นตัวจากปัญหาเศรษฐกิจที่ผ่านมา เพราะรัฐบาลและธนาคารกลางของหลายประเทศได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของวิกฤติเศรษฐกิจครั้งก่อนๆ และเตรียมใช้มาตรการกระตุ้นเพื่อฉุดเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมายืนได้โดยเร็ว อย่างไรก็ตามคำถามสำคัญขณะนี้ก็คือรูปร่างหน้าตาของเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด 19 นี้จะเป็นอย่างไร
ในสหรัฐเองซึ่งแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญมาจากธุรกิจขนาดย่อยที่มีคนงานไม่ถึง 500 คนและสหรัฐมีธุรกิจประเภทนี้อยู่ถึงราว 5 ล้านรายในปัจจุบันนั้น นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าธุรกิจรายย่อยจำนวนมากจะล้มหายตายจากไปโดยคุณโรเบิต สก๊อต ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยนโยบายด้านการค้าและการผลิตของสถาบัน Economic Policy Institute ในกรุงวอชิงตันชี้ว่าเราอาจจะได้เห็นการล่มสลายของภาคธุรกิจขนาดย่อยในสหรัฐ เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะไม่สามารถกลับมาได้
แต่ในทางกลับกันคุณโรเบิร์ตชี้ว่าตำแหน่งงานในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วที่ต้องสูญเสียไปนี้อาจทดแทนได้ด้วยการดึงงานการผลิตอุปกรณ์ด้านการแพทย์ที่สำคัญกลับมา เพราะเท่าที่ผ่านมาในช่วงหลายสิบปีกลุ่มประเทศตะวันตกได้ outsource หรือส่งงานเรื่องการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์และยาไปยังประเทศกำลังพัฒนา แต่บทเรียนเรื่องปัญหาขาดแคลนและการต้องพึ่งพาแหล่งผลิตในต่างชาติจะทำให้รัฐบาลและบริษัทยักษ์ใหญ่ในหลายประเทศตะวันตกหันมาทบทวนเรื่องนี้ใหม่
อีกเรื่องหนึ่งซึ่งก็มีการพูดถึงกันมากเช่นกันคือ supply chain หรือห่วงโซ่อุปทานซึ่งจะต้องมีการบริหารจัดการให้ดีขึ้นและลดการพึ่งพาแหล่งใดแหล่งหนึ่งเป็นการเฉพาะ ซึ่งเรื่องนี้คุณมอริส อ๊อฟเฟลด์ อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย-เบิร์กลีย์ผู้เคยเป็นหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF เชื่อว่าธุรกิจในประเทศตะวันตกยังคงต้องพึ่งพา supply chain จากต่างประเทศอยู่แต่จะมีการกระจายแหล่งผลิตออกไปเพื่อลดปัญหาการต้องพึ่งพาประเทศใดหรือภูมิภาคใดโดยเฉพาะ และเรื่องนี้ก็จะเป็นโอกาสให้หลายประเทศในกลุ่มโลกกำลังพัฒนาก้าวขึ้นมามีส่วนและบทบาทในห่วงโซ่อุปทานของโลกในอนาคตได้
สำหรับคำถามที่ว่าคนกลุ่มใดจะได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจหลังโควิด-19 มากที่สุดนั้น ขณะนี้เราเห็นได้ชัดว่าคนที่ประกอบอาชีพในภาคเศรษฐกิจอิสระหรือ gig economy ถูกกระทบกระเทือนมากที่สุดและก็คงจะเป็นเช่นนั้นต่อไป ซึ่งเรื่องนี้ก็สะท้อนให้เห็นได้จากคำเตือนของคุณนิค ฮิลแมน ผู้อำนวยการสถาบัน Higher Education Policy Institute ในอังกฤษรวมทั้งจากคุณโจแอนนา จอร์จ บล็อกเกอร์ของกลุ่มคนรุ่นมิลเลนเนียลซึ่งชี้ว่าอนาคตทางเศรษฐกิจและตลาดแรงงานดูจะไม่สดใสเอาเสียเลยสำหรับคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะในยุโรปซึ่งจะมีปัญหาเศรษฐกิจถดถอยมากที่สุดในโลก เพราะคนกลุ่มนี้นอกจากจะมีปัญหาจากช่องว่างทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ในปัจจุบันอยู่แล้วยังจะต้องแบกรับภาระรับผิดชอบด้านหนี้สินและภาษีในอนาคตจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในปัจจุบันด้วย โดยคำเตือนของนักวิชาการและนักวิจัยด้านนโยบายก็คือปัญหาว่างงาน ช่องว่างทางเศรษฐกิจ และอนาคตที่มืดมนในกลุ่มประชากรดังกล่าวอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เกิดกระแสชาตินิยมทั้งขวาจัดและซ้ายจัดในหลายประเทศทั่วโลกขึ้นได้ในอนาคต