'ผู้นำประชานิยม' กับเสียงสนับสนุนที่หายไปในช่วงโควิด-19

This combination photo shows U.S. President Donald J. Trump, from left, British Prime Minister Boris Johnson, Mexican President Andres Manuel Lopez Obrador and Brazil's President Jair Bolsonaro.

Your browser doesn’t support HTML5

Populist Leaders


ประเทศที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มากที่สุดในโลก มีทั้งประเทศที่ร่ำรวยและยากจน ทั้งประเทศที่มีประชากรหนาแน่นและเบาบาง แต่ส่วนใหญ่ประเทศเหล่านี้มีอย่างหนึ่งที่เหมือนกัน คือมีผู้นำที่ใช้นโยบายประชานิยมและแตกต่างจากผู้นำรุ่นก่อน ๆ

ตัวอย่างของผู้นำประชานิยม ได้แก่ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์, นายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอริส จอห์นสัน, ประธานาธิบดีบราซิล จาอีร์ โบลโซนาโร ประธานาธิบดีเม็กซิโก อันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ และนายกรัฐมนตรี นเรนธรา โมดี ซึ่งล้วนชนะการเลือกตั้งด้วยการท้าทายฐานอำนาจเก่า ผ่านนโยบายประชานิยมที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน และปฏิเสธการเดินตามครรลองทางการเมืองแบบที่เคยรู้จักกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัส ดูเหมือนนโยบายประชานิยมเหล่านั้นกลับไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เมื่อเทียบกับแนวทางของประเทศที่มีแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตย อย่างเช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เป็นต้น

ไมเคิล ชิฟต์เตอร์ ประธาน Inter-American Dialogue สถาบัน think tank ในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า วิกฤตด้านสาธารณสุขในขณะนี้ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญทั้งด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์ในการแก้ไขปัญหา แต่ผู้นำประชานิยมนั้นมักอยู่ตรงข้ามกับผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และนักวิทยาศาสตร์ ที่ถูกมองว่าเป็นฝ่ายเดียวกับกลุ่มฐานอำนาจเดิม

ชิฟต์เตอร์ กล่าวด้วยว่า บราซิลคล้ายกับสหรัฐฯ ที่มีผู้เชี่ยวชาญมากมาย แต่ปัญหาคือนักการเมืองแนวคิดประชานิยมทำให้เป็นเรื่องยากในการใช้ประโยชน์จากผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นในการจัดทำเป็นนโยบายหรือมาตรการที่สามารถแก้ไขวิกฤตหรือจัดการปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพได้

สหรัฐฯ บราซิล อังกฤษ และเม็กซิโก ต่างปกครองด้วยผู้นำที่ไม่ทำตามคำแนะนำของนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งประเทศเหล่านี้มีผู้เสียชีวิตรวมกันราวครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิต 618,000 คนทั่วโลก ตามข้อมูลของมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอพกินส์

ชิฟต์เตอร์ กล่าวว่า หากผู้นำเหล่านั้นพึ่งพานักวิทยาศาสตร์หรือผู้เชี่ยวชาญมากเกินไป ก็อาจทำให้ตนเองดูอ่อนแอในสายตาของฐานเสียง เพราะไม่มีความรู้ในทุกด้านดังที่เคยกล่าวหาเสียงเอาไว้

ด้าน โธมัส ไรท์ แห่งสถาบัน Brookings กล่าวว่า การระบาดใหญ่ครั้งนี้และวิกฤตทางเศรษฐกิจได้เผยให้เห็นถึงจุดบอด และต้นทุนที่ต้องจ่ายจากความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของรัฐบาลประชานิยมในหลายประเทศ รวมทั้งยังลดความน่าเชื่อถือในสายตาของกลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่มีต่อผู้นำเหล่านั้น

นักวิชาการผู้นี้ย้ำว่า หากผู้นำไม่มีความเชื่อมั่นในแนวทางด้านวิทยาศาสตร์ จะมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ล้มตายและติดเชื้อไวรัสชนิดนี้

ในกรณีของสหรัฐ​ฯ และบราซิล ปธน.ทรัมป์ และ ปธน.โบลโซนาโร ต่างออกมากล่าวเพื่อผ่อนเพลาความรุนแรงในช่วงแรก ๆ ของการระบาด และยังกล่าวยกย่องสรรพคุณของยาบางชนิดที่นักวิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ช่วยในการรักษาโควิด-19 นอกจากนี้ยังขาดแนวทางที่ชัดเจนในระดับชาติและมองบรรดาผู้นำรัฐบาลในระดับท้องถิ่นเป็นศัตรู

ในกรณีของอังกฤษ นายกรัฐมนตรีจอห์นสันล่าช้าในการสั่งปิดประเทศในช่วงที่โคโรนาไวรัสกำลังระบาดหนักในหลายประเทศของยุโรป ก่อนที่จะท่าทีเปลี่ยนไปหลังจากที่ติดเชื้อด้วยตัวเอง

ที่อินเดีย นายกฯ นเรนธรา โมดี ได้ใช้มาตรการล็อคดาวน์และปิดประเทศ แต่ในขณะเดียวกันก็มีการควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลและตัวเลขต่าง ๆ รวมทั้งยังสนับสนุนยาพื้นบ้านและยาแผนโบราณในการรักษาโควิด-19

จิสนู แดส ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ กล่าวว่า โควิด-19 ได้เเผยให้เห็นความบกพร่องในการบริหารของรัฐบาลสหรัฐฯ และอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศประชาธิปไตยขนาดใหญ่ที่สุดในโลกสองประเทศ ทั้งในด้านของความไม่เชื่อใจต่อข้อมูลทางสถิติและวิทยาศาสตร์ และความอ่อนแอของสถาบันหลักและองค์กรต่าง ๆ ในประเทศ

โดยลักษณะของผู้นำประชานิยมนั้นมีหลายอย่างคล้ายกัน ประการแรกคือ มักตั้งคำถามต่อข้อมูลที่ได้รับการยอมรับทางวิทยาศาสตร์ สองคือ มักหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำให้เสียฐานเสียงของตน เช่น การบอกให้พวกเขาสวมหน้ากากหรืออยู่กับบ้าน

สามคือ การทำให้เกิดการแบ่งแยกระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมเพื่อรักษาฐานอำนาจเหนือชนกลุ่มน้อยเชื้อชาติต่าง ๆ ซึ่งการแบ่งแยกนั้นทำให้การสร้างความร่วมมือและเอกภาพเป็นเรื่องยาก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และสี่คือการสร้างจุดขายของตนเอง ซึ่งเน้นที่การคุยโวโอ้อวดและทำให้ฝูงชนชื่นชมในความประหลาดของตน

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายกรัฐมนตรีเยอรมนี อังเกลา แมร์เคิล กล่าวที่การประชุุมสภายุโรปว่า เวลานี้ประเทศในยุโรปจำเป็นต้องมีผู้นำที่หนักแน่น มีจิตใจสนับสนุนภาคประชาชนและชุมชน และสร้างความร่วมมือผ่านกระบวนการประชาธิปไตย

ผู้นำเยอรมนีกล่าวว่า ผู้นำประชานิิยมที่ปฏิเสธความจริงนั้นกำลังเผชิญข้อจำกัด และเรากำลังเห็นว่า การระบาดครั้งนี้ไม่สามารถรับมือได้ด้วยการโกหก ข้อมูลผิด ๆ การปลุกปั่นและความเกลียดชัง แต่ต้องใช้ความโปร่งใส ความจริง และความร่วมมือกันในทุกฝ่าย