ภูเขาไฟบนเกาะชวาปะทุรอบใหม่! ขัดขวางภารกิจค้นหาและกู้ภัยผู้รอดชีวิต

Foto aérea muestra al volcán Semeru, en el este de Java, Indonesia, el 6 de diciembre de 2021.

ภูเขาไฟเซเมรุในจังหวัดชวาตะวันออกของอินโดนีเซีย เกิดการปะทุรอบใหม่ในวันจันทร์ ส่งเถ้าถ่านออกมาอีกจำนวนมาก ขัดขวางภารกิจค้นหาและกู้ภัยผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิดเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ภูเขาไฟเซเมรุซึ่งเป็นภูเขาไฟขนาดใหญ่ที่สุดบนเกาะชวา เริ่มปะทุเมื่อวันเสาร์ พ่นเถ้าถ่านและโคลนร้อนสู่ท้องฟ้าก่อนที่จะตกลงมาปกคลุมบ้านเรือนจำนวนมากบริเวณรอบภูเขาไฟแห่งนี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 15 คน สูญหายอีก 27 คน ขณะที่ทางการได้สั่งเร่งอพยพประชาชนหลายพันคนออกจากพื้นที่ประสบภัย

ภาพถ่ายทางอากาศแสดงให้เห็น ชุมชน ยานพาหนะและถนนต่าง ๆ ปกคลุมด้วยขี้เถ้าหนาสีเทาและโคลน รถบรรทุกหลายคันถูกโคลนท่วมทับจนจมมิดเกือบทั้งคัน ขณะที่บรรดาเจ้าหน้าที่กู้ภัยพยายามขุดหาผู้รอดชีวิตและศพของผู้เสียชีวิตใต้ซากความเสียหายและโคลนที่ถมทับหนา

ในวันจันทร์ ภูเขาไฟเซเมรุเริ่มปะทุอีกครั้ง ทำให้หน่วยกู้ภัยต้องสั่งถอนกำลังออกจากพื้นที่โดยรอบ

A man inspects a truck buried in the ash following the eruption of Mount Semeru in Lumajang district, East Java province, Indonesia, Sunday, Dec. 5, 2021.

เจ้าหน้าที่มีคำสั่งให้ชาวบ้านออกไปจากพื้นที่ 5 กิโลเมตรรอบปล่องภูเขาไฟ เนื่องจากอันตรายจากภูเขาไฟที่ยังคงคุกรุ่นและมลพิษจากการสูดดมควันพิษจากเถ้าถ่านของภูเขาไฟ

สำนักงานธรณีวิทยาอินโดนีเซียรายงานว่า เถ้าถ่านจากภูเขาไฟเซเมรุลอยไปไกลราว 4 กิโลเมตร ขณะที่หัวหน้าคนงานของบริษัทเหมืองทรายแห่งหนึ่งกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า มีคนงานเหมืองราว 15 คนที่ยังติดอยู่ใต้โคลนและเถ้าถ่านหนาที่ถมทับเหมืองดังกล่าว

ทางด้านองคการกาชาดสากลระบุว่า ได้จัดส่งคณะเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์และความช่วยเหลือในรูปของหน้ากากอนามัยมากกว่า 65,000 ชิ้นเข้าไปในพื้นที่ประสบภัย เพื่อช่วยปกป้องจากควันพิษและเชื้อโคโรนาไวรัสให้แก่ประชาชนด้วย

INDONESIA-VOLCANO

ทั้งนี้ ภูเขาไฟเซเมรุความสูง 3,676 เมตรแห่งนี้มีลักษณะเป็นกรวยภูเขาไฟสลับชั้นซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า "มหาเมรุ" ได้เกิดการระเบิดมาแล้วหลายครั้งตลอด 200 ปีที่ผ่านมา โดยครั้งสุดท้ายที่เกิดการปะทุคือเมื่อเดือนมกราคมปีนี้ ซึ่งไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต

ปัจจุบัน มีประชาชนอาศัยอยู่รอบภูเขาไฟแห่งนี้มากกว่า 62,000 คน และเป็นหนึ่งในภูเขาไฟ 129 ลูกของอินโดนีเซียที่ถูกจับตามองอยู่ว่าอาจเกิดการระเบิดขึ้นมาได้ภายใต้ลักษณะภูมิศาสตร์ที่เรียกว่า "วงแหวนแห่งไฟ" ที่มีการซ้อนกันของชั้นเปลือกโลกและแนวแผ่นดินไหวต่าง ๆ