ประเทศกำลังพัฒนาเริ่มประสบปัญหาภาระหนี้สินพุ่ง ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19

A man walks past a closed branch of the Co-Operative bank following the outbreak of the coronavirus disease in St Helens, Britain, Aug. 12, 2020.

Your browser doesn’t support HTML5

Business News


นับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา องค์การความช่วยเหลือระหว่างประเทศหลายแห่งได้ออกมาเตือนเกี่ยวกับผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 ที่จะรุนแรงหนักในหมู่ประเทศยากจน โดยเฉพาะกลุ่มที่จำเป็นต้องเบียดงบประมาณประจำปีไปชำระหนี้สินของประเทศ

และหลังการระบาดดำเนินมาได้เกือบปี คำเตือนทั้งหลายเริ่มปรากฏเป็นรูปธรรมมากขึ้น และนักเคลื่อนไหวจำนวนมากกล่าวว่า ความพยายามในการบรรเทาภาระหนี้สินของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายไม่ค่อยจะได้ผลเท่าใดนัก

สถาบันการเงินระหว่างประเทศ หรือ IIF ได้ออกมาเตือนเมื่อเดือนที่แล้วว่า ภาวะ “สึนามิหนี้” กำลังจะถล่มเศรษฐกิจโลกในเร็วๆ นี้แล้ว ขณะที่ทั้งรัฐบาลและภาคธุรกิจในหลายประเทศทำการกู้ยืมเพิ่มเป็นจำนวนรวมกันกว่า 15 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นตัวเลขเพิ่มเติมจากภาระหนี้ที่สร้างไว้ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ โดยภาระหนี้สินของประเทศกำลังพัฒนาได้เพิ่มขึ้นถึง 26 เปอร์เซ็นต์ แต่รายได้จากการจัดเก็บภาษีตกฮวบ ในช่วงเดียวกันนี้

ข้อมูลจากธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF แสดงให้เห็นว่า ขณะนี้ มีอย่างน้อย 35 ประเทศที่อยู่ในภาวะความเสี่ยงสูงที่จะประสบปัญหา “วิกฤตหนี้” เช่น กานา เคนยา อัฟกานิสถาน และเฮติ เป็นต้น โดยสถานการณ์ดูมีความรุนแรงมากเป็นพิเศษในแถบแอฟริกาใต้สะฮารา ซึ่ง IMF ระบุว่า ตัวเลขเฉลี่ยของหนี้สินประเทศพุ่งถึงระดับ 65 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีไปแล้ว

ก่อนหน้านี้ สมาชิกกลุ่มประเทศจี-20 ได้อนุมัติแผนที่มีชื่อว่า Debt Service Suspension Initiative (DSSI) เพื่อให้บรรดาผู้ให้กู้ยืมทั้งหลาย เช่น IMF สามารถผัดผ่อนหนี้ของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายไปจนถึงสิ้นปี ก่อนจะมีการอนุมัติเพิ่มเติมเมื่อเดือนที่แล้ว ให้ยืดการผัดผ่อนไปถึงเดือนมิถุนายนของปีหน้า

แต่นักเคลื่อนไหวต่างๆ มองว่า แผนดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือแบบขาเดียว เพราะไม่ได้มีการรวมความถึงบรรดาผู้ปล่อยกู้ภาคเอกชน เช่น ธนาคาร หรือกองทุนต่างๆ ให้มีการผ่อนผันหนี้ให้ประเทศกำลังพัฒนาที่ยืมเงินไปด้วย

ซาราห์-เจน คลิฟตัน ผู้อำนวยการโครงการ Jubilee Debt Campaign จากอังกฤษ ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการยกหนี้กับประเทศกำลังพัฒนา บอกกับ วีโอเอ ว่า ความล้มเหลวของสมาชิกกลุ่มประเทศจี-20 ในการดึงผู้ปล่อยกู้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมโครงการ แสดงให้เห็นถึงความไม่สนใจและใส่ใจต่อวิกฤตหนี้สินโลก ขณะที่บรรดาผู้ให้ยืมเงินจากภาคเอกชนทั้งหลายยังคงเดินหน้าทำกำไรจากประเทศยากจนต่างๆ ตลอดเวลา