Your browser doesn’t support HTML5
ตลาดอากาศยานที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดนี้ หลายสายการบินพยายามเพิ่มเทคโนโลยีเข้าไปทดแทนกำลังแรงงานในภาคการบิน
ล่าสุด รายงานจากธนาคาร UBS แห่งสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า อุตสาหกรรมสายการบินเตรียมใช้การควบคุมการบินจากระยะไกล ทั้งเครื่องบินพาณิชย์และเฮลิคอปเตอร์ หลังจากปี 2030 ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนการจ้างนักบินได้มากถึง 3 หมื่น 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1 ล้านล้าน 2 แสนล้านบาทต่อปี
อย่างที่เราทราบกันดีว่านักบินเลือกใช้ระบบการบินอัตโนมัติ หรือ Auto-pilot สำหรับเส้นทางการบินระยะไกล และเข้ามาควบคุมการบินด้วยตัวเองในการตัดสินใจที่อาศัยประสบการณ์สูงของนักบินเท่านั้น ทำให้การวางระบบการบินอัตโนมัติ จะช่วยลดต้นทุนที่ปกติจะต้องจ้างนักบิน 10 คน ต่อเครื่องบิน 1 ลำ
นอกจากนี้ ยังช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนนักบินที่เรื้อรังมาหลายสิบปีได้ด้วย หลังจากบริษัท Boeing ประเมินว่า ในช่วง 20 ปีต่อจากนี้ คือ ตั้งแต่ปีนี้ไปจนถึงปี 2036 จะมีสายการบินพาณิชย์ซื้อเครื่องบินใหม่ถึง 4 หมื่น 1 พันลำ นั่นหมายถึงการจ้างและฝึกอบรมนักบินใหม่อีก 6 แสน 3 หมื่น 7 พันคนในช่วงเวลาเดียวกันนี้
ทีมวิจัยธนาคาร UBS แห่งสวิตเซอร์แลนด์ บอกว่า ในแง่ของผู้บริโภคก็ได้รับประโยชน์ด้วยเช่นกัน หากเปลี่ยนมาเป็นการพึ่งการบินไร้คนขับ จะทำให้ค่าตั๋วเครื่องบินในสหรัฐฯ ลดลง 11 เปอร์เซนต์ หรือถูกลงเฉลี่ย 40 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1 พัน 2 ร้อยบาทต่อบัตรโดยสารแต่ละใบ!
เรื่องนี้จึงอาจเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมการบินครั้งใหญ่ของโลก ที่ไม่ใช่แค่ก้าวตามเทคโนโลยี แต่ยังต้องรวมถึงการเปลี่ยนแปลงตัวบทกฏหมายเพื่อลดจำนวนนักบิน
เพราะตามกฏหมายการบินในหลายประเทศ กำหนดกฏเรื่อง Four-Eye Rule ให้มีนักบิน 2 คนบนเครื่องเพื่อควบคุมการบินตลอดเส้นทางอย่างปลอดภัย และนี่อาจจะเป็นข้อกำหนดที่นำไปสู่กระแสต่อต้านจากสหภาพนักบินได้
นี่น่าจะเป็นทางออกที่น่าสนใจสำหรับอุตสาหกรรมการบินในอนาคต เพียงแต่ปัญหาใหญ่ กลับเป็นตัวเลขนักเดินทางที่จะเลือกบินเที่ยวบินไร้คนขับเหล่านี้
เพราะทาง UBS ทำแบบสำรวจประชากร 8 พันคน จากทั่วทุกมุมโลก ระบุว่า 54 เปอร์เซนต์ของผู้ที่อยู่ในการสำรวจ บอกว่าตนไม่อยากเดินทางโดยเครื่องบินไร้คนขับ
แต่ยังมีนักเดินทางเพียง 17 เปอร์เซนต์ที่กล้าซื้อตั๋วขึ้นเครื่องที่ปราศจากนักบินควบคุมนี้ โดยเป็นผู้คนที่มาจากสหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และออสเตรเลีย