นักวิจัยอเมริกันประสบความสำเร็จฟื้นฟูสมองหมูที่ตายแล้ว

Yale scientists looking to enhance brain study, were able to restore basic cellular activity in the brains of pigs hours after their death.

Your browser doesn’t support HTML5

Pig Brain Cells

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเยล เน้นว่า การวิจัยนี้ไม่ได้เป็นการฟื้นฟูความสามารถในการรับรู้ในสมองของหมูที่นำออกมาจากหมูที่ตายเเล้วเเต่อย่างใด เเต่เป็นการทดลองที่ออกเเบบเป็นพิเศษเพื่อหลีกเลี่ยงการฟื้นฟูดังกล่าวซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้

การศึกษานี้ได้ก่อให้เกิดคำถามหลายอย่างเกี่ยวกับจริยธรรมทางการแพทย์ รวมทั้งคำถามหลายคำถามเกี่ยวกับคำจำกัดความของอาการสมองตาย เเละผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นตามมาต่อขั้นตอนการปฏิบัติในการบริจาคอวัยวะ

มหาวิทยาลัยเยลชี้ว่า ความมุ่งหมายหลักของการวิจัยคือการสร้างความเป็นไปได้ในอนาคตที่จะเอื้อให้นักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษาวิเคราะห์สมองทั้งก้อนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ เเทนที่จะศึกษาสมองโดยจำกัดอยู่เเค่เฉพาะตัวอย่างปริมาณเล็กน้อยของเนื้อเยื่อสมองเท่านั้น

การศึกษานี้ได้รับการสนับสนุนโดยสถาบันสุขภาพเเห่งชาติสหรัฐฯ (National Institutes of Health) และผลการทดลองที่ได้ซึ่งจะตีพิมพ์ในวารสาร Nature ตรงข้ามกับแนวคิดเดิมที่ยอมรับกันมานานเกี่ยวกับอาการสมองตาย โดยถือว่าอาการสมองตายคือการที่กิจกรรมของเซลล์ในสมองยุติลงโดยไม่สามารถฟื้นคืนได้ภายในไม่กี่วินาที หรือไม่กี่นาทีหลังจากสมองขาดอ็อกซิเจนหรือขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง

การทดลองนี้ชี้ถึงการฟื้นคืนอย่างจำกัดของการทำงานในเซลล์สมองของหมู โดยสมองของหมูนี้ได้มาจากโรงฆ่าสัตว์เเห่งหนึ่ง ทีมงานได้ฉีดส่วนผสมพิเศษของสารเคมีชนิดหนึ่งที่ใช้ในการรักษาสภาพของเซลล์เข้าไปในสมองของหมู เเละพบว่าเซลล์สมองของหมูยังทำงานอยู่ได้อีก 4 ชั่วโมงหลังจากที่หมูเสียชีวิตไปแล้ว

Nenad Sestan หัวหน้าทีมนักวิจัย กล่าวว่า สมองที่สมบูรณ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่รักษาความสามารถในการฟื้นคืนกิจกรรมในโมเลกุลเเละเซลล์ของสมองได้ในช่วงหลายชั่วโมงหลังจากหยุดทำงานไปเเล้ว ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่วงการแพทย์ไม่คาดคิดกันมาก่อน

และที่ห้องทดลองที่มหาวิทยาลัยเยล ทีมนักวิจัยได้พัฒนาระบบที่เรียกว่า BrainEx เพื่อใช้ในการฉีดสารอาหารเทียมเข้าไปในระบบหลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงสมองของหมู

Zvonimir Vrselja ผู้ช่วยนักวิจัยด้านประสาทสมอง กล่าวว่า สมองของหมูที่ใช้ในการศึกษาไม่ถือว่าเป็นสมองที่มีชีวิต เเต่เป็นสมองที่ยังมีกิจกรรมในเซลล์อยู่เท่านั้น

ขณะที่ผลการศึกษานี้ไม่เสนอวิธีบำบัดสมองที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนในตอนนี้ เเต่ผลการทดลองก็ได้นำไปสู่เเนวทางการวิจัยเเบบใหม่ ที่ในที่สุดอาจช่วยให้แพทย์ค้นพบวิธีฟื้นคืนการทำงานของสมองของคนที่ล้มป่วยจากอาการเส้นเลือดในสมองตีบตันเเละแตก หรือเพื่อทดสอบวิธีการบำบัดใหม่ๆ ที่ใช้รักษาเซลล์สมองที่เสียหายจากอาการบาดเจ็บ

เเต่ในขณะเดียวกัน การทดลองนี้อาจก่อให้เกิดความไม่เเน่ใจรอบใหม่เกี่ยวกับการตัดสินว่าอะไรคือความตาย ซึ่งในขณะนี้จะถือเอาว่าคนเสียชีวิตหากการทำงานทุกอย่างของสมองยุติลงเเละกอบกู้คืนไม่ได้

ซึ่งคำจำกัดความนี้มีผลให้เเพทย์ตัดสินใจตามจรรยาบรรณว่า เมื่อไหร่จึงจะเริ่มยุติการรักษาชีวิตของผู้ป่วย เเล้วหันไปรักษาอวัยวะของผู้ป่วยเเทน

(เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทย กรุงวอชิงตัน)