Your browser doesn’t support HTML5
ประธานาธิบดีดูแตร์เต้ของฟิลิปปินส์เดินทางเยือนรัสเซียระหว่างวันที่ 1 ถึง 5 ตุลาคมโดยได้ไปเยี่ยมชมฐานบินที่ใกล้กรุงมอสโคว์ด้วย และในวาระการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านความมั่นคงและการทหารนั้นนักวิเคราะห์เชื่อว่ามอสโคว์อาจเสนอขายอาวุธให้กับฟิลิปปินส์
ขณะนี้รัสเซีย เช่นเดียวกับสหรัฐไม่ได้เป็นคู่กรณีในการอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ซึ่งมีจีนกับบรูไน มาเลเซีย ไต้หวัน เวียดนาม และฟิลิปปินส์เกี่ยวข้องอยู่ อย่างไรก็ตามจีนมีความก้าวล้ำนำหน้าในแง่การทหารและเทคโนโลยีมากกว่าประเทศอื่นและเป็นผลให้ประเทศคู่กรณีที่อ่อนแอกว่ามักต้องขอความช่วยเหลือจากต่างชาติโดยเฉพาะจากสหรัฐ
เท่าที่ผ่านมานั้นฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นพันธมิตรเก่าแก่ของสหรัฐได้พึ่งพาความสนับสนุนต่างๆ จากวอชิงตัน อย่างไรก็ตามหลังจากที่ชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2559 แล้ว ประธานาธิบดีดูแตร์เต้ได้หันมาใช้นโยบายสร้างความสัมพันธ์กับหลายประเทศซึ่งก็รวมถึงการพัฒนามิตรภาพอย่างใกล้ชิดกับจีนด้วย
นายเอรอน ราบีนานักวิจัยที่หน่วยงานวิจัย Asia-Pacific Pathways to Progress Foundation ในกรุงมนิลากล่าวว่าขณะนี้สหรัฐยังมีบทบาทอิทธิพลอย่างมากอยู่ในฟิลิปปินส์ ดังนั้นหากรัสเซียขายอาวุธให้กับฟิลิปปินส์เรื่องนี้ก็จะช่วยสร้างอิทธิพลทางการเมืองของมอสโคว์ขึ้นและอาจช่วยลดบทบาททางทหารของสหรัฐในฟิลิปปินส์ได้ในเวลาเดียวกัน
ส่วนดร.เติมศักดิ์ เฉลิมพลานุภาพ นักวิจัยของสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาในสิงคโปร์ก็บอกเช่นกันว่ารัสเซียมีท่าทีสนับสนุนจีนในเรื่องทะเลจีนใต้อยู่แล้วและต้องการได้รับการยอมรับในฐานะที่เป็นมหาอำนาจประเทศหนึ่งด้วย
แต่นอกจากการช่วยสร้างบทบาทอิทธิพลทางทหารและการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว อาจารย์เอดดูวาโด อาราราลแห่งคณะนโยบายสาธารณะของมหาวิทยาลัย National University ในสิงคโปร์ได้ชี้ว่าความสัมพันธ์ที่แนบแน่นมากขึ้นระหว่างมอสโคว์กับมนิลาจะเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจในแง่ที่ช่วยเปิดเส้นทางเข้าถึงมหาสมุทรแปซิฟิกผ่านฟิลิปปินส์ และทำให้เรือสินค้าต่างๆ เข้าถึงเมืองท่าวลาดิวอสสต๊อกของรัสเซียซึ่งตั้งอยู่บนชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกได้ง่ายขึ้นด้วย
ขณะนี้รัสเซียเป็นประเทศผู้ค้าอาวุธรายใหญ่ให้กับเวียดนามอยู่แล้ว โดยเมื่อแปดปีที่แล้วเวียดนามซื้อระบบขีปนาวุธซึ่งใช้ติดตั้งตามแนวชายฝั่งและซื้อระบบจรวดยิงจากภาคพื้นดินสู่อากาศจากรัสเซีย ในขณะที่รัสเซียก็ช่วยปรับปรุงฝูงบินขับไล่ Sukhoi ของมาเลเซียให้สามารถใช้งานต่อไปได้อีก 15 ปีและเมื่อต้นปีนี้ก็มีรายงานว่ามอสโคว์พิจารณาจะขายเครื่องบินขับไล่รุ่น Su-35 ให้กับมาเลเซียด้วยเช่นกัน
และในขณะที่รัฐบาลของประธานาธิบดีดูแตร์เต้ต้องการมีทางเลือกเรื่องการซื้ออาวุธให้มากขึ้นนั้น รัสเซียก็ไม่ได้ตั้งข้อจำกัดหรือมีข้อห้ามใดๆ เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในนโยบายปราบปรามยาเสพติดของประธานาธิบดีดูแตร์เต้ถ้าจะขายอาวุธให้กับฟิลิปปินส์
อย่างไรก็ตามนายเอรอน ราบีนา นักวิจัยด้านความมั่นคงของฟิลิปปินส์ได้ตั้งข้อสังเกตว่าในแง่การเป็นพันธมิตรกับจีนนั้น รัสเซียอาจให้เหตุผลเรื่องการขายอาวุธให้กับฟิลิปปินส์ว่าเพื่อใช้ปราบปรามกลุ่มกบฏชาวมุสลิมแทนที่จะเป็นการเสริมเขี้ยวเล็บเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของฟิลิปปินส์ในทะเลจีนใต้ ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความขุ่นเคืองใจให้กับจีนซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของรัสเซียในการต่อต้านอิทธิพลของสหรัฐ