วัคซีนต้านโควิดของ Pfizer ต้องเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำมาก - ปากีสถานบอกปัดว่าไม่เหมาะสม

Pfizer vaccine covid

Your browser doesn’t support HTML5

Pfizer Covid Vaccine

หนึ่งวันหลังจากที่บริษัท Pfizer เปิดเผยว่าการทดลองวัคซีนโควิด-19 ในขั้นสุดท้ายได้ผลสำเร็จ 90% นายเทดรอส แอดฮานอม เกรเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกก็กล่าวเมื่อวันอังคารว่าวัคซีนที่ว่านี้ให้ความหวังอย่างยิ่งและย้ำว่าควรมีการแจกจ่ายวัคซีนต้านโควิด-19 ทั่วโลกอย่างทั่วถึงด้วย

วัคซีนจากการทดลองร่วมระหว่างบริษัท Pfizer ของสหรัฐฯ กับบริษัท BioNTech ของเยอรมนีซึ่งมีข่าวว่าได้ผลสำเร็จถึง 90% ในการทดลองขั้นที่สามนี้ใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Messenger RNA หรือที่เรียกย่อๆ ว่า mRNA ซึ่งต่างจากวัคซีนชนิดอื่นเพราะไม่ได้อาศัยเชื้อที่ตายแล้วแต่ใช้วิธีกระตุ้นให้เซลล์ในร่างกายผลิตโปรตีนที่มีลักษณะคล้ายหนามของไวรัสโควิด-19 ขึ้นมา อย่างไรก็ตามโปรตีนคล้ายหนามที่ร่างกายสร้างขึ้นเองนี้ไม่เป็นอันตรายแต่จะเป็นการสอนหรือช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานเพื่อไม่ให้หนามโปรตีนของไวรัสโควิด-19 เกาะเกี่ยวเข้ากับเซลล์หากรับเชื้อเข้าไป

เทคโนโลยีที่ว่านี้มีข้อได้เปรียบในแง่ที่ทำให้เดินหน้าพัฒนาได้เร็ว อย่างไรก็ตามวัคซีนดังกล่าวจะต้องฉีดสองครั้งโดยห่างกันครั้งละราวสามสัปดาห์และต้องอาศัยการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำมาก คือระหว่าง -70 ถึง -80 องศาเซลเซียสซึ่งก็เท่ากับอุณหภูมิหน้าหนาวของขั้วโลกใต้เลยทีเดียว

แต่เมื่อวันอังคาร ศาสตราจารย์ Atta Ur Rahman หัวหน้าคณะทำงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของปากีสถานได้ชี้ว่าวัคซีนของบริษัท Pfizer นี้ไม่เหมาะสำหรับปากีสถานซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีอากาศร้อนและขาดโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมสำหรับการลำเลียงขนส่งและการเก็บวัคซีนที่อุณหภูมิต่ำ ศาสตราจารย์ Atta Ur Rahman กล่าวด้วยว่าขณะนี้ปากีสถานกำลังทดลองวัคซีนในขั้นสุดท้ายสองชนิดจากบริษัทของจีน โดยบริษัทหนึ่งนั้นคือ CanSinoBio ซึ่งเป็นวัคซีนที่อาศัยการฉีดเพียงครั้งเดียวและสามารถลำเลียงขนส่งได้ในสภาพอุณหภูมิปกติด้วย โดยวัคซีนจากบริษัท CanSinoBio ของจีนดังกล่าวกำลังมีการทดลองพร้อมกันอยู่ในหลายประเทศ เช่น จีน รัสเซีย ชิลี และอาร์เจนตินาด้วย

อีกด้านหนึ่ง มีรายงานว่าบราซิลประกาศพักการทดลองขั้นสุดท้ายของวัคซีนโควิด-19 จากบริษัท Sinovac ของจีนเนื่องจากมีผลข้างเคียงที่น่าวิตกในอาสาสมัครรายหนึ่งเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา รายงานข่าวของโทรทัศน์ในบราซิลระบุว่าอาสาสมัครที่รับวัคซีนรายนี้ได้เสียชีวิตลงแต่การเสียชีวิตอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับวัคซีนโดยตรง

การระงับการทดลองวัคซีนของบริษัท Sinovac ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สามที่มีการหยุดการทดลอง เพราะก่อนหน้านี้ได้เกิดเหตุการณ์กับอาสาสมัครของบริษัทอื่นเช่นกัน โดยเมื่อเดือนตุลาคมบริษัท Johnson & Johnson ของสหรัฐฯ ได้ระงับการทดลองขั้นสุดท้ายเป็นการชั่วคราวเมื่อเกิดผลข้างเคียงกับอาสาสมัครรายหนึ่ง และบริษัท AstraZeneca ก็ได้ประกาศระงับการทดลองในเดือนกันยายนเมื่ออาสาสมัครคนหนึ่งในอังกฤษแสดงผลข้างเคียงจากภาวะอักเสบในร่างกายซึ่งอาจส่งผลต่อการทำงานของกระดูกสันหลังได้เช่นกัน