ที่มาที่ไปเหตุประท้วงนองเลือดในเปรู

Police arrive where supporters of ousted Peruvian President Pedro Castillo protest his detention in Arequipa, Peru, Dec. 14, 2022.

เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ในรอบกว่า 20 ปีของเปรู จนทำให้มีผู้เสียชีวิตในขณะนี้อย่างน้อย 40 คน ระหว่างการปะทะของกองกำลังความมั่นคงและผู้ประท้วงที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างเป็นระบบ และการรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของผู้คน

รอยเตอร์สรุปที่มาชองการประท้วงใหญ่ดังต่อไปนี้

สาเหตุของการประท้วง

เกิดการประท้วงขึ้นหลังรัฐสภาเปรูปลดประธานาธิบดีเปโดร คาสติญโญ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม โดยเขาถูกจับกุมและถูกควบคุมตัว 18 เดือนก่อนเริ่มการไต่สวนข้อหากบฎ

อดีตผู้นำเปรูวัย 53 ปีผู้นี้ ถูกสืบสวนข้อหาทุจริตหลายข้อหา และถูกไต่สวนในกรณียุบสภาโดยมิชอบก่อนที่สภาจะมีกำหนดลงมติถอดถอนเขา

การปลดคาสติญโญถือเป็นความขัดแย้งครั้งล่าสุดระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติของเปรู โดยดินา โบลัวร์เต รอง ปธน. ของเขา ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำเปรูแทน ถือเป็น ปธน.เปรูคนที่หกในรอบห้าปี

เหตุใดการประท้วงจึงขยายตัว

ผู้ประท้วงเรียกร้องให้ ปธน.โบลัวร์เต ลาออกจากตำแหน่ง มีการยุบสภา มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และให้มีการปล่อยตัวคาสติญโญ พวกเขายังเดินขบวนเรียกร้องให้มีการยุติความไม่สงบด้วย

ข้อกล่าวหาว่ามีการใช้ความรุนแรงต่อผู้ประท้วงเกินกว่าเหตุ ทำให้เกิดกระแสไม่พอใจต่อรัฐบาลเปรูชุดปัจจุบัน กลุ่มสิทธิมนุษยชนยังกล่าวหาว่า ทางการเปรูใช้อาวุธปืนกับผู้ประท้วงและหย่อนระเบิดควันจากเฮลิคอปเตอร์ ขณะที่กองทัพบกเปรูกล่าวว่า ผู้ประท้วงใช้อาวุธและระเบิดทำมือในการชุมนุม

เมื่อวันอังคาร สำนักงานอัยการสูงสุดของเปรูกล่าวว่า ได้เริ่มการไต่สวน ปธน.โบลัวร์เตและสมาชิกคณะรัฐมนตรี ในข้อหา “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ฆาตกรรม และทำให้เกิดการบาดเจ็บสาหัส” ต่อผู้ประท้วง

เกิดอะไรขึ้นในการประท้วง?

ผู้ประท้วงปิดถนนสายหลัก วางเพลิงอาคาร และบุกรุกสนามบินจนทำให้เกิดความเสียหายหลายสิบล้านดอลลาร์ การปิดถนนยังทำให้การค้าติดขัด เที่ยวบินให้บริการไม่ได้ และผู้โดยสารติดค้างด้วย

ทางด้านกองกำลังความมั่นคงเปรูใช้ความรุนแรงตอบโต้ผู้ประท้วง โดยพลเรือนที่ไม่ได้ร่วมประท้วงก็เป็นเหยื่อของการปราบปรามด้วยเช่นกัน

องค์กร Inter-American Commission on Human Rights ประณามความรุนแรงจากทั้งกองกำลังความมั่นคงและผู้ประท้วง และเรียกร้องให้มีการเจรจา โดยจนถึงขณะนี้ ผู้ประท้วงยังไม่ต้องการเจรจากับ ปธน.โบลัวร์เต

Peru protest

เปโดร คาสติญโญ คือใคร?

คาสติญโญ ซึ่งเป็นนักการเมืองฝั่งซ้าย ได้รับเลือกตั้งเมื่อปี 2021 หลังเปรูเผชิญวิกฤตการเมืองมาหลายปี รวมทั้งการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เปรูได้รับผลกระทบหนัก

คาสติญโญเป็นอดีตครูและผู้นำสหภาพในหมู่บ้านขนาดเล็กที่ยากจน และไม่มีประสบการณ์ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจากการเลือกตั้ง หรือมีความสัมพันธ์กับขั้วอำนาจทางการเมืองของเปรูมาก่อน

ผู้สนับสนุนของเขาหวังว่า คาสติญโญจะให้ความสำคัญต่อชาวเปรูในชนบท คนยากจน และกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงท้าทายชนชั้นนำในเปรูมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อคาสติญโญได้รับเลือกตั้งแล้ว แรงสนับสนุนของเขาก็ลดลง ท่ามกลางข่าวฉาวเรื่องการทุจริต การต่อสู้ภายในพรรค และแรงต้านจากฝ่ายค้านในรัฐสภา ขณะที่เขาพยายามรับมือด้วยการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีห้าคน และรัฐมนตรีกว่า 80 คน ในช่วงเวลาที่เขาดำรงตำแหน่งสั้น ๆ

ถึงอย่างนั้น คาสติญโญก็ยังคงได้รับการสนับสนุนจากผู้ที่เห็นว่า เขาเป็นเหยื่อของชนชั้นนำทางการเมืองและรัฐสภาเปรูที่ถูกมองว่ามีการทุจริตภายใน ผลสำรวจ IPSOS เมื่อเดือนพฤศจิกายนเผยว่า คาสติโญได้รับคะแนนนิยม 27% ซึ่งสูงกว่าคะแนนนิยมของรัฐสภาเปรูที่อยู่ที่ 18%

การประท้วงเกิดขึ้นที่ไหน?

มีการประท้วงทั่วเปรู โดยศูนย์กลางการประท้วงทางตอนใต้ของประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่ชายขอบทางการเมืองและมีแนวคิดทางฝ่ายซ้าย พื้นที่ทางตอนใต้ยังมีการปะทะรุนแรงที่สุดด้วย

ภาคใต้ของเปรูเป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์เป็นส่วนใหญ่ และมีประวัติศาสตร์ขัดแย้งมานานหลายร้อยปีกับกรุงลิมา เมืองหลวงของประเทศที่มีคนผิวขาวและลูกผสมมากกว่า และแม้ว่าพื้นที่ทางตอนใต้จะอุดมไปด้วยทองแดงและแก๊ส แต่ประชาชนกลับมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำกว่าชาวกรุงลิมา เช่น มีอายุขัยต่ำกว่า และมีอัตราการเสียชีวิตของทารกสูงกว่า

ภาคใต้ของเปรูยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม เช่น เมืองกุสโก และซากอารยธรรมโบราณชื่อดังอย่างมาชูปิกชู โดยเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวกว่า 2,000 คนถูกอพยพจากมาชูปิกชูเนื่องจากเหตุประท้วงครั้งนี้

  • ที่มา: รอยเตอร์