Your browser doesn’t support HTML5
สหรัฐฯ เป็นประเทศพัฒนาแล้วแห่งเดียวในโลกที่ไม่การันตีรายได้ของผู้ปกครองช่วงการลางานไปดูแลทารกแรกคลอด นั่นหมายความว่าพ่อแม่จำนวนมากต้องสะสมวันลาป่วยและลากิจเพื่อมาใช้เลี้ยงลูกในช่วงดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม การผลักดันภายในของหลายรัฐ ทำให้ชาวแคลิฟอร์เนีย นิวยอร์ก นิวเจอร์ซี่และโรดไอส์แลนด์ สามารถรับเงินเดือนช่วงลาไปดูแลทารกหลังคลอดได้
และกรุงวอชิงตันได้เริ่มกระบวนการผลักดันกฎหมายที่เรียกว่า Universal Paid Leave Act ซึ่งกำหนดว่าพนักงานจะได้รับเงินเดือนจากนายจ้างได้สูงสุด 12 สัปดาห์ ระหว่างการลาด้วยเหตุผลทางการแพทย์
กฎหมายนี้ได้รับการขับเคลื่อนจากกลไกท้องถิ่นในรัฐนิวยอร์กเช่นกัน
Joana Blotner ผู้จัดการการรณรงค์ DC Paid Family Leave ที่กรุงวอชิงตัน กล่าวว่าร่างกฎหมายนี้ครอบคลุมธุรกิจทุกประเภท รวมถึงธุรกิจขนาดเล็กในนครหลวงของสหรัฐฯ
จุดเด่นประการหนึ่งของกฎหมายนี้ คือเรื่องการประกันที่ผูกพันค่าใช้จ่ายต่ำมากสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก เพราะกฎหมายให้เกลี่ยรายจ่ายทั้งหมดสำหรับทั้งภาคการจ้างงาน
สมาชิกสภากรุงวอชิงตัน Charles Allen ผู้ร่วมร่างกฎหมาย กล่าวว่า กฎหมายนี้จะช่วยทำให้สถาบันครอบครัวเข้มแข็งขึ้น เพราะสนับสนุนพ่อแม่ให้ได้ใช้เวลากับลูกมากขึ้น โดยที่ไม่เสียสิทธิ์การรับเงินเดือน เขาเชื่อว่าประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะช่วยส่งเสริมความสำเร็จของทั้งพ่อแม่และลูกด้วย
Marc Freedman เจ้าหน้าที่อาวุโสของหอการค้าสหรัฐฯ กล่าวว่า แม้จะเห็นความสำเร็จระดับรัฐ การหวังผลระดับชาติยังมีอุปสรรคอยู่มาก
เขากล่าวว่าภาคธุรกิจมักต่อต้านกฎหมายที่บังคับให้เกิดการลางานแบบใหม่ๆ ความคิดของหอการค้าอเมริกัน คือนายจ้างจะอนุญาตให้ลูกจ้างลางานในรูปแบบต่างๆ ตามความสามารถที่ทำได้
ส.ส. Loretta Sanchez เป็นตัวแทนจากแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นรัฐหนึ่งที่มีกฎให้นายจ้างจ่ายค่าตอบแทน ขณะที่พ่อของทารกแรกคลอดลาไปช่วยภรรยาเลี้ยงลูก
เธอบอกว่าตนสนับสนุนแนวทางที่ช่วยให้ทั้งภาคธุรกิจอยู่ได้ และลูกจ้างมีโอกาสลางานสำหรับการดูแลบุคคลที่ตนรัก
และเมื่อถาม Marc Freedman จากหอการค้าสหรัฐฯ เขากล่าวว่า แม้ตนจะไม่มีทางออกที่เป็นอุดมคติอันหอมหวาน แต่น่าจะมีวิธีหลายรูปแบบที่สามารถทำให้กฎอยู่ในลักษณะแรงจูงใจมากกว่าการบังคับ
(รายงานโดย Julie Taboh / เรียบเรียงโดย รัตพล อ่อนสนิท)