ประชากรนกแร้งหลังขาว ซึ่งมีถิ่นที่อยู่อยู่ในแอฟริกา และตามส่วนต่างๆ ของเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีจำนวนลดลงจนเห็นได้ชัดในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา จนนักอนุรักษ์ธรรมชาติจัดให้เป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
แต่ความพยายามในการอนุรักษ์นกแร้งเป็นเวลาหลายสิบปี ดูเหมือนว่าจะสามารถยับยั้งการลดจำนวนของนกชนิดนี้ได้
นักอนุรักษ์ธรรมชาติเชื่อว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการที่นกแร้งในปากีสถานมีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ คือการใช้ยาในการเลี้ยงปศุสัตว์ ซึ่งซากของสัตว์เหล่านี้เป็นแหล่งอาหารสำคัญสำหรับบรรดานกแร้ง
ศูนย์เพาะพันธุ์สัตว์ป่าที่ Changa Manga ซึ่งถูกก่อตั้งขึ้นจากความร่วมมือของรัฐบาลท้องถิ่นกับกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) พยายามช่วยเหลือนกเหล่านี้ในแคว้นปัญจาบ มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005
Wardah Javed ผู้ประสานงานของกองทุนสัตว์ป่าโลกในปากีสถาน กล่าวว่า นกแร้งหลังขาวเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ และเจ้าหน้าให้การดูแลนกพันธุ์นี้มาอย่างต่อเนื่อง
ความพยายามในช่วงแรกเพิ่งจะมาเห็นผลเมื่อปี ค.ศ. 2016 เมื่อทางศูนย์เพาะพันธุ์สัตว์ป่าประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์นกแร้ง หลังจากนั้นมีลูกนกที่ฟักตัวออกจากไข่ได้สำเร็จ 6 ตัว เจ้าหน้าที่ของกองทุนสัตว์ป่าโลกผู้นี้กล่าวว่า "นกแร้งทุกตัวสมบูรณ์และแข็งแรง”
เจ้าหน้าที่ในศูนย์นี้ค้นพบในระหว่างที่พยายามเพาะพันธุ์นกแร้งหลังขาวว่าเป็นนกที่ขี้อายและไม่ชอบให้เปลี่ยนคนให้อาหาร
Wardah Javed กล่าวว่า นกเหล่านี้มีความไวต่อการรบกวนต่างๆ จากมนุษย์ที่อยู่รอบๆ กรงของพวกมัน และมักจะหลีกเลี่ยงการกินอาหาร เวลาที่มีคนมาให้อาหาร เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ให้อาหารนก ต้องสวมผ้าคลุมหน้าชนิดพิเศษสีขาว เพื่อให้ทุกคนดูเหมือนๆ กัน เจ้าหน้าที่จะให้อาหารนกแร้งวันละ 2 ครั้ง
โดยทั่วไปชาวปากีสถานมักรังเกียจนกแร้ง และดูเหมือนว่าจะมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ตระหนักว่า หากไม่มีนกที่กินของเน่าเสียเหล่านี้ ซากของปศุสัตว์จะเน่าเปื่อยและแพร่เชื้อโรคทำให้เกิดปัญหาสุขภาพและปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง
นอกจากนี้แล้ว นกแร้งเหล่านี้กินสัตว์ที่ตายแล้วและยังช่วยทำความสะอาดสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงถือว่าพวกมันคือผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยกล่าวอีกว่า การใช้ยาแก้ปวด Diclofenac Sodium ในปศุสัตว์ คือตัวการที่ทำให้นกแร้งหลังขาวมีจำนวนลดลง พวกเขาตั้งข้อสังเกตว่านกเหล่านั้นตายลงหลังจากกินซากสัตว์ที่ปนเปื้อนด้วยยา
กองทุนสัตว์ป่าโลกพยายามโน้มน้าวรัฐบาลปากีสถานให้สั่งห้ามการใช้ยาดังกล่าวในปี ค.ศ. 2006 แต่เจ้าหน้าที่ของศูนย์เพาะพันธุ์สัตว์ป่า กล่าวว่ายังคงมีการใช้ยาแก้ปวดชนิดนี้กันอยู่แบบผิดกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นอุปสรรคต่อแผนการปล่อยนกแร้งหลังขาวเข้าสู่ป่า