คุณ Sharmeen Obaid-Chinoy และคุณ Daniel Junge คือเจ้าของผลงานภาพยนตร์สารคดีสั้นเรื่อง Saving Face ที่เพิ่งได้รับรางวัลออสการ์ประเภทสารคดีสั้นยอดเยี่ยมประจำปีนี้ ซึ่งสร้างความชื่นมื่นให้แก่บรรดาผู้สร้างและผู้กำกับภาพยนตร์ในปากีสถาน
เรื่องราวของ Saving Face บอกเล่าชีวิตของหมอ Mohammad Jawad ศัลยแพทย์ชาวปากีสถานในกรุงลอนดอน ที่เดินทางกลับไปปากีสถานเพื่อรักษาสตรีปากีสถานจำนวนมากที่ถูกทำร้ายด้วยน้ำกรดทั้งจากสามีและญาติพี่น้องของพวกเธอเอง
คุณ Valerie Khan ประธานมูลนิธิช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากน้ำกรดผู้ร่วมทำงานในหนังสารคดีเรื่องนี้ เชื่อว่ารางวัลออสการ์ช่วยให้ทั่วโลกรับรู้ถึงอาชญากรรมที่น่าสยดสยองซึ่งเกิดกับสตรีชาวปากีสถาน และเป็นการแสดงให้เห็นถึงพลังของสตรีปากีสถานที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง เธอบอกว่า Saving Face ไม่ใช่เรื่องของเหยื่อหรือผู้เคราะห์ร้าย แต่เป็นเรื่องของผู้รอดชีวิต ความพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลง ความหวังและอนาคต
คุณ Valerie Khan ระบุว่าปัจจุบันมีสตรีปากีสถานที่ถูกทำร้ายด้วยน้ำกรดมากกว่า 200 คนในแต่ละปี โดยปีที่แล้วรัฐบาลปากีสถานได้ผ่านร่างกฎหมายที่จัดให้การทำร้ายด้วยน้ำกรดเป็นความผิดทางอาญา แต่ทางองค์กรสิทธิมนุษยชนต้องการให้กฎหมายดังกล่าวระบุถึงการบำบัดรักษาและให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เหยื่อผู้ถูกสาดน้ำกรดใส่ด้วย
คุณ Nayyar Shabana Kiyani แห่งมูลนิธิเพื่อสิทธิสตรี Aurat กล่าวว่าความสำเร็จของหนังสารดคี Saving Face จะช่วยให้การต่อสู้เพื่อสิทธิของสตรีปากีสถานได้รับความสนใจจากผู้ออกกฎหมายในสภาอีกครั้ง เธอบอกว่าประเด็นเรื่องการถูกทำร้ายด้วยน้ำกรดนั้นเป็นประเด็นสำคัญ เพราะมีสตรีปากีสถานจำนวนมากที่ตกเป็นเหยื่อ
ด้านคุณ Sharmeen Obaid-Chinoy ผู้กำกับหนังสารคดี Saving Face ซึ่งเป็นชาวปากีสถานคนแรกที่ได้รับรางวัลออสการ์บอกว่า เธอขออุทิศรางวัลนี้ให้แก่สตรีปากีสถานทุกคนที่พยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ปากีสถาน