‘หมู่เกาะแปซิฟิก’ - เส้นทางผ่านยอดนิยมของแก๊งอาชญากรข้ามชาติ

FILE - This photo taken on Nov. 20, 2019 shows a beach at a resort at Natadola Bay in Fiji.

ผู้เชี่ยวชาญเปิดเผยว่า หมู่เกาะแปซิฟิกกำลังกลายมาเป็นจุดผ่านยอดนิยมของบรรดาแก๊งอาชญกรข้ามชาติในการขนถ่ายยาเสพติดและฟอกเงินมากขึ้นเรื่อย ๆ

รายงานจากพื้นที่และความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญหลายรายระบุว่า องค์กรอาชญากรรมจากทั้งในภูมิภาคเอเชียและอเมริกาฉวยโอกาสจากช่องโหว่ข้อจำกัดด้านทรัพยากรของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในเกาะต่าง ๆ เพื่อธุรกิจผิดกฎหมายของตนหนักขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ ปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติดในจุดหมายท่องเที่ยวยอดนิยมเหล่านี้ก็รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน

ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญที่ติดตามประเด็นนี้ชี้ว่า ภูมิภาคหมู่เกาะแปซิฟิกกำลังกลายมาเป็นเส้นทางผ่านที่สำคัญสำหรับกระบวนการลักลอบขนส่งยาเสพติดและสารตั้งต้นที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดไปยังออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ที่ซึ่งสารเหล่านี้สามารถทำราคาได้สูงและมีอัตราการใช้เมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) และโคเคนที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อนอยู่

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า สถานการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของปัญหาที่จะเลวร้ายลงไปได้อีก ดังเช่นที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่ราคายาบ้านั้นไม่ถึงเม็ดละ 1 ดอลลาร์ (37.80 บาท) พร้อมทั้งยังเรียกร้องให้รัฐบาลในภูมิภาคร่วมมือกันให้มากขึ้นในการป้องกันไม่ให้วิกฤตที่ว่าเกิดขึ้นจริง

FILE - Officers stand by a display of confiscated drugs in Sydney.

โฮเซ โซซา-ซานโตส นักวิชาการอาวุโส จากวิทยาลัยความมั่นคงแปซิฟิกออสเตรเลีย ณ มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย บอกกับ วีโอเอ ว่า “แปซิฟิกกลายมาเป็นจุดเชื่อมต่อของแก๊งค้ายาจากอเมริกาใต้และอเมริกากลาง กับแก๊งค้ายาในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เสียแล้ว” และว่า “แก๊งเหล่านั้นไม่เพียงแต่กำลังมองหาวิธีขนย้ายยาไปยังตลาดที่สามารถทำกำไรได้มหาศาลอย่าง ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ แต่ยังทำการเคลื่อนย้ายยาเสพติดจากทวีปอเมริกามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชีย และส่งสารตั้งต้นไปยังทวีปอเมริกาด้วย”

ซานโตส กล่าวด้วยว่า รัฐบาลเกาะแปซิฟิกหลายแห่งไม่มีความสามารถในการตรวจตราและบังคับใช้กฎหมายตามพรมแดนของตน และด้วยเหตุนี้ สถิติการขนย้ายยาเสะติดในภูมิภาคดังกล่าวถึงพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก

นอกจากเหตุผลดังกล่าวแล้ว ซานโตส ชี้ว่า มีการสร้างเครือข่ายอาชญากรที่เป็นชนพื้นเมืองมาร่วมทำงานกับกลุ่มค้ายาเสพติดข้ามชาติ โดยทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กลุ่มดังกล่าวสามารถขยายกิจการมายังภูมิภาคเกาะแปซิฟิก เช่น ฟิจิ ปาปัวนิวกินี และตองกา รวมทั้งหมู่เกาะมาร์แชลล์ และหมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา พร้อมระบุว่า “นี่เป็นสิ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน และน่าหนักใจพอควร”

หนึ่งในตัวอย่างของการเคลื่อนไหวของแก๊งอาชญากรรมดังกล่าว คือ รายงานของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ที่ออกมาเมื่อเดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 2020 และระบุว่า กลุ่ม 4K Triad ซึ่งเป็นองค์กรอาชญากรรมจีนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เริ่มมีการเคลื่อนไหวหนักขึ้นในภาคพื้นแปซิฟิกแล้ว โดยมีปฏิบัติการหลักคือ การลักลอบขนยาเสพติด เปิดบ่อนคาสิโนผิดกฎหมาย การขู่กรรโชก การลักลอบค้ามนุษย์ และการติดสินบนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งในประเทศปาเลาด้วย

ซานโตส ยังกล่าวด้วยว่า บริษัทและบ่อนคาสิโนสัญชาติจีนมากมายในพื้นที่แปซิฟิกเหนือเป็นของกลุ่มค้ายาเสพติดข้ามชาติเพื่อทำหน้าที่ฟอกเงินและอำนวยความสะดวกสำหรับการขนย้ายยา ขณะที่ กลุ่มอาชญากรในเม็กซิโกจัดการขนย้ายโคเคนและยาบ้าผ่านภูมิภาคแปซิฟิกให้

ความท้าทายที่ถาโถมเข้ามา

ด้วยจำนวนของแก๊งอาชญากรและยาเสพติดที่หลั่งไหลเข้ามาจากทั้งทวีปเอเชียและทวีปอเมริกา ตำรวจท้องถิ่นในหมู่เกาะแปซิฟิกต้องทำงานอย่างหนักเพื่อรับมือกับคดีอาชญากรรมที่พุ่งสูงขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น ที่ฟิจิ เจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดเผยว่า จำนวนคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเพิ่มขึ้นจากราว 200 คดี ในปี ค.ศ. 2013 มาเป็น 1,500-2,000 คดี ในปี ค.ศ. 2020 โดย สื่อ The Fiji Sun รายงานโดยอ้างคำพูดของ ผู้ช่วยผู้กำกับการตำรวจ มาเรีย เซรูคาลาว ในข่าวที่ตีพิมพ์ออกมาเมื่อเดือนมิถุนายน ว่า “ฟิจิ คือ ศูนย์กลางการขนถ่ายยาเสพติดให้โทษรุนแรง”

เซรูคาลาว ยังกล่าวด้วยว่า ตำรวจฟิจิดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินถึง 549 คดีที่เกี่ยวข้องกับคดีอาชญากรรมข้ามชาติในปี ค.ศ. 2018 ขณะที่ สถิติในประเทศแสดงให้เห็นว่า มีการฟอกเงินถึงราว 49 ล้านดอลลาร์ในแต่ละปีด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น โฮเซ โซซา-ซานโตส นักวิชาการอาวุโส จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย กล่าวเสริมว่า มีการผลิตยาบ้าเพิ่มมากขึ้นในภูมิภาคแปซิฟิกด้วย โดยเป็นฝีมือของทั้งคนปรุงยาบ้าที่มีประสบการณ์และถูกส่งตัวออกมาจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ให้มาอยู่ตามเกาะต่าง ๆ และคนเหล่านี้ก็มีสายสัมพันธ์กับกลุ่มค้ายาเสพติดในการหาสารตั้งต้น รวมทั้งคนปรุงยามือสมัครเล่นที่ใช้สารเคมีที่หาได้มาผลิตยาเสพติด

เจเรมี ดักลาส ผู้แทนจากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime – UNODC) ประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก บอกกับ วีโอเอ ว่า การเก็บสถิติคดีอาชญากรรมข้ามชาติในแถบแปซิฟิกนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก และเป็นภัยคุกคามอย่างมากสำหรับภูมิภาคนี้และรัฐขนาดเล็กต่าง ๆ

ดักลาส กล่าวว่า การที่ภูมิภาคนี้เป็นทางผ่านของยาเสพติดและการลักลอบขนย้ายของผิดกฎหมายต่าง ๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะจุดนี้เป็นจุดที่อยู่กึ่งกลางระหว่างทวีเอเชียและทวีปอเมริกา แต่สถานการณ์นั้นยกระดับรุนแรงขึ้นเพราะการเชื่อมต่อของระบบคมนาคมและเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ “ไม่มีรัฐใด ๆ หลบพ้นภัยคุกคามของอาชญากรรมข้ามชาติได้นาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการเชื่อมต่อและเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามามีบทบาทในการก่ออาชญากรรมมากขึ้นเรื่อย ๆ”

ผู้แทน UNODC แนะว่า ทุกฝ่ายควรจะเร่งส่งเสริมการตระหนักรู้ พัฒนางานด้านยุทธศาสตร์ข่าวกรอง และจัดนโยบายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งปรับปรุงความสามารถในทุกด้าน และทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ จากภายนอกภูมิภาคแปซิฟิก เพื่อจัดการกับสถานการณ์ที่ดำเนินอยู่นี้โดยเร็ว

ดักลาส ยังแนะให้รัฐบาลในแถบแปซิฟิกเรียนรู้จากประสบการณ์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งผ่านช่วงเวลาดังกล่าวมาก่อน ขณะที่ กลยุทธ์ต่าง ๆ ที่กลุ่มอาชญากรข้ามชาติใช้หมู่เกาะแปซิฟิกเป็นทางผ่าน ก็ไม่ต่างกับวิธีที่กลุ่มเหล่านี้ใช้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สักเท่าใด

และหากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในทวีปอเมริกา หมู่เกาะแปซิฟิก และแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยิ่งทำงานร่วมกับเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างใกล้ชิดได้มากขึ้นเท่าใด ภูมิภาคแปซิฟิกก็ยิ่งจะมีความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับกลยุทธ์ของกลุ่มอาชญากรทั้งหลายได้ดีขึ้นเท่านั้น

ผู้แทน UNODC กล่าวทิ้งท้ายว่า “ในแถบแปซิฟิก สภาพปัญหานั้นยังถือว่า อยู่ในจุดที่เพิ่งเริ่มต้นและเราสามารถหยุดยั้งกลุ่ม(อาชญากรรมและค้ายาเสพติด)ไม่ให้ตั้งรกรากถาวรได้ ดังนั้น หากเราจะเรียนรู้บทเรียนต่าง ๆ จากทั้งสองด้าน(เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทวีปอเมริกา) นั่นก็จะเป็นส่วนสำคัญ(ที่ช่วยได้อย่างมาก)”

  • ที่มา: วีโอเอ