นักวิจัยอเมริกันคิดค้น Piezoelectric เพื่อสร้างไฟฟ้าให้กับอุปกรณ์ที่ฝังติดกับอวัยวะ เช่นเครื่องควบคุมการเต้นของหัวใจ

  • Jessica Berman
นักวิทยาศาสตร์ที่ University of Illinois วิทยาเขต Urbana – Champaign ได้คิดค้นอุปกรณ์การแพทย์สมัยใหม่ที่สามารถสร้างกระแสไฟฟ้าระดับต่ำๆ ด้วยการติดวัสดุที่เรียกว่า Piezoelectric (พีซโซอีเลคทริค) ซึ่งมีลักษณะเหมือนยางยืด ที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยการดึงให้ยืดออกหรือบีบรัดให้แน่นๆ

นักวิจัย John Rogers และเพื่อนร่วมงานที่ University of Illinois วิทยาเขต Urbana – Champaign อธิบายว่า เมื่อนำอุปกรณ์นี้ไปฝังติดกับอวัยวะที่เคลื่อนไหวได้ในร่างกายคนเรา เช่น หัวใจ ปอด หรือกะบังลม อุปกรณ์นี้ก็จะสร้างกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ ขึ้นมาได้ โดยจะเก็บกระแสไฟฟ้านี้ไว้ในแบตเตอรี่ขนาดจิ๋ว เพื่อส่งพลังงานกลับไปยังอุปกรณ์ที่ฝังอยู่ในอวัยวะนั้น ให้ทำงานอย่างต่อเนื่องโดยไม่ขาดตอน เช่นเครื่องควบคุมอัตตราการเต้นของหัวใจ หรือ Cardiac Pacemaker เครื่องกระตุ้นเส้นประสาท หรือ Nerve Stimulator และเครื่องตรวจสอบการเต้นของหัวใจ หรือ Heart Monitor ซึ่งปัจจุบันยังต้องใช้แบตเตอรี่ในการทำงาน

การทดลองพบว่าวัสดุพีซโซอีเลคทริคนี้ยังแข็งแรงดีแม้ผ่านการยืดหยุ่นแบบงอหน้า-หลังมากกว่า 20 ล้านครั้ง ซึ่งชี้ให้เห็นว่าสามารถใช้ได้นานหลายปี โดยที่ไม่ต้องผ่าตัดเปลี่ยนใหม่บ่อยๆ ไม่เหมือนกับการใช้ถ่านหรือแบตเตอรี่ที่ต้องผ่าตัดเปลี่ยนถ่านก้อนใหม่เป็นประจำ

นักวิจัยได้ทดสอบวัสดุพีซโซอีเลคทริคนี้กับอวัยวะของสัตว์หลายชนิด เช่นวัว หมู และแกะ และพบว่าสามารถสร้างกระแสไฟฟ้าได้ราว 8 โวลท์ ซึ่งเพียงพอสำหรับการทำงานของอุปกรณ์ที่ฝังอยู่ในอวัยวะของคนเรา ถึงกระนั้นยังต้องมีการทดลองกับมนุษย์ต่อไปก่อนที่จะนำมาใช้ได้จริง

รายงานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์อยู่ในวารสารการแพทย์ Proceeding of The National Academy of Sciences

รายงานจาก Jessica Berman / เรียบเรียงโดย ทรงพจน์ สุภาผล