ไวรัสกลายพันธุ์โอมิครอนย้ำเตือนปัญหาพื้นฐานของความไม่ทัดเทียมเรื่องวัคซีนทั่วโลก

Travelers receive tests for the COVID-19 at a pre-departure testing facility, as countries react to the new coronavirus Omicron variant, outside the international terminal at Sydney Airport in Sydney, Australia, Nov. 29, 2021.

Your browser doesn’t support HTML5

Omicron Vaccine Inequity

การกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 เป็นสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) นับเป็นเครื่องย้ำเตือนสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ได้เตือนไว้หลายครั้งแล้วว่าไวรัสดังกล่าวจะขยายตัวและยังเป็นภัยคุกคามทั่วโลกต่อไปหากการฉีดวัคซีนยังไม่สามารถทำได้อย่างทั่วถึงในทุกประเทศ

และถึงแม้ประเทศที่พัฒนาแล้วหลายสิบประเทศพร้อมจะฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มสามให้กับประชาชนในขณะนี้ แต่ก็ยังมีอีกหลายสิบประเทศทั่วโลกซึ่งไม่มีวัคซีนอย่างเพียงพอ นอกจากนั้นแผนงานแจกจ่ายวัคซีนของโครงการ COVAK ก็มีปัญหาไม่เป็นไปตามเป้าด้วยเช่นกัน

โดยถึงแม้ในขณะที่นักวิจัยยังพยายามหาคำตอบว่าเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนจะทำให้การแพร่ระบาดเป็นไปได้รวดเร็วขึ้น ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรงกว่า และจะสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้หรือไม่นั้น นักวิทยาศาสตร์บางคนเช่นนายแพทย์ Richard Hatchett ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของหน่วยงานชื่อ CEPI ที่ช่วยสนับสนุนงานโครงการ COVAX ขององค์การสหประชาชาติอยู่ได้ชี้ว่าโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้เป็นเชื้อประเภทฉวยโอกาสซึ่งอาศัยประโยชน์จากสถานการณ์รวมทั้งจากความไม่ทัดเทียมของการกระจายวัคซีนทั่วโลกด้วย และยิ่งเชื้อดังกล่าวมีโอกาสแพร่กระจายในกลุ่มผู้ยังไม่ได้รับวัคซีนมากเพียงใดโอกาสที่จะกลายพันธุ์และกลายเป็นภัยต่อสุขภาพอย่างร้ายแรงก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ถึงแม้องค์การสหประชาชาติจะมีโครงการ COVAX ซึ่งเรียกร้องให้ประเทศที่พัฒนาแล้วช่วยแจกจ่ายวัคซีน โควิด-19 ให้กับประเทศที่ยากจนอย่างทั่วถึงก็ตามแต่ความไม่ทัดเทียมเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ยังเกิดขึ้นโดยจะเห็นได้ชัดมากที่สุดในทวีปแอฟริกาซึ่งมีประชาชนในทวีปนี้เพียงไม่ถึง 7% เท่านั้นที่ได้รับวัคซีน

เป้าหมายเดิมของโครงการ COVAX นั้นคือการกระจายวัคซีนอย่างทัดเทียมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว แต่จากเป้าหมายเดิมของ COVAX เพื่อแจกจ่ายวัคซีน 2 พันล้านโดสทั่วโลกนั้นการบริจาควัคซีนที่ไม่เป็นไปตามเป้าทำให้ COVAX ต้องลดตัวเลขดังกล่าวลงเหลือเพียง 1,400 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งก็หมายถึงการจะต้องส่งวัคซีนไปยังประเทศกำลังพัฒนาให้ได้อย่างน้อยวันละ 25 ล้านโดสทุกวันจนถึงสิ้นปี แต่ความเป็นจริงก็คือตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมเป็นต้นมา มีวัคซีนที่ COVAK สามารถแจกจ่ายได้เพียงวันละราว 4 ล้านโดสเท่านั้นเอง

ปัญหาที่ว่านี้เกิดขึ้นขณะที่มีประเทศพัฒนาซึ่งร่ำรวยแล้วกว่า 60 ประเทศสามารถเริ่มฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับประชาชนส่วนผู้คนในประเทศที่ยากจนส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้ แต่อุปสรรคเกี่ยวกับการแจกจ่ายวัคซีนของโครงการ COVAX นั้นไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเรื่องการบริจาคของประเทศร่ำรวยซึ่งไม่เป็นไปตามเป้าหมายและปัญหาโลจิสติกส์หรือการกระจายวัคซีนไปถึงผู้คนในประเทศต่างๆ ซึ่งอาจจะขาดแคลนระบบสาธารณสุขพื้นฐานที่ดี ไม่มีโครงสร้างด้านการคมนาคมขนส่งอย่างทั่วถึง รวมทั้งยังขาดอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น เช่น เข็มฉีดยาเท่านั้น แต่ COVAX ยังพบปัญหาการที่วัคซีนบริจาคจากประเทศพัฒนาแล้วหมดอายุหรือใกล้จะหมดอายุลง เป็นผลให้ประเทศผู้รับบริจาคไม่สามารถนำไปใช้ได้ อย่างเช่นเมื่อกลางปีนี้ รัฐบาลของคองโกได้ส่งคืนวัคซีนที่ได้รับจากโครงการ COVAX เพราะวัคซีนดังกล่าวใกล้จะหมดอายุจนไม่สามารถนำไปฉีดให้กับทุกคนได้ทันเวลา

และประการท้ายสุดถึงแม้โครงการ COVAX จะสามารถนำส่งวัคซีนไปยังประเทศเป้าหมายได้โดยวัคซีนไม่ใกล้หมดอายุก็ตาม แต่ก็ยังมีผู้คนส่วนหนึ่งในกลุ่มประเทศที่ได้รับบริจาควัคซีนซึ่งยังคงลังเลไม่อยากรับเพราะไม่แน่ใจเกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีนนี้ด้วย

ในส่วนของสหรัฐฯ เองนั้น รัฐบาลสหรัฐฯ ได้บริจาควัคซีนไฟเซอร์และโมเดอนาให้กับโครงการ COVAX ไปแล้วราว 275 ล้านโดสแต่ก็ยังไม่ถึง หนึ่งในสามของจำนวนที่รัฐบาลประธานาธิบดีไบเดนเคยให้สัญญาไว้ ส่วนสหภาพยุโรปเองก็ได้บริจาควัคซีนแอสตร้าเซเนกาให้โครงการ COVAX เพียงราวหนึ่งในสามจากจำนวน 400 ล้านโดสที่เคยให้สัญญาไว้เช่นกัน

ที่มา: AP