สำรวจเทรนด์ปรับโฉมออฟฟิศใหม่ เอาใจพนักงานหลังโควิด-19

A man looks out a window from an office space during partial lockdown measures amid the coronavirus disease (COVID-19) outbreak in Geneva, Switzerland, November 18, 2020. REUTERS/Denis Balibouse

โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ไม่เพียงแต่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างต่อการใช้ชีวิต และการทำงานของคนทั่วโลก แต่ยังเปลี่ยนพื้นที่และสภาพแวดล้อมการทำงานของหลายบริษัทอีกด้วย

สำนักข่าว Associated Press รายงานว่า หลายบริษัทกำลังปรับเปลี่ยนพื้นที่สำนักงานเพื่อช่วยให้พนักงานรู้สึกปลอดภัยมากขึ้นเมื่อพวกเขากลับมาทำงานในออฟฟิศอีกครั้ง บางบริษัทเลือกที่จะกำจัดโต๊ะทำงานออกไป และสร้างห้องประชุมให้มากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพนักงานที่ยังคงทำงานทางไกลหรือทำงานจากบ้าน ที่จะเข้ามาในออฟฟิศเฉพาะเวลามีประชุมเท่านั้น

ด้านสถาปนิกและนักออกแบบภายในกล่าวว่า นี่เป็นช่วงเวลาของการทดลองและการทบทวนไตร่ตรองสำหรับหลาย ๆ บริษัท ยกตัวอย่างเช่น Steelcase ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเฟอร์นิเจอร์สำนักงานในเมือง แกรนด์แรพิด ในรัฐมิชิแกน กล่าวว่าจากการทำวิจัยของบริษัท พบว่าครึ่งหนึ่งของบริษัททั่วโลกวางแผนที่จะปรับเปลี่ยนพื้นที่สำนักงานใหม่ในปีนี้

นาตาลี เองเกิล หัวหน้านักออกแบบที่ Gensler บริษัทสถาปนิกที่เมืองซานโฮเซ่ รัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่ทำให้หลายบริษัทได้คิดทบทวน และครุ่นคิดถึงคำถามที่ว่า “ทำไมเรายังต้องไปออฟฟิศ” เองเกิลเสริมว่า ไม่ใช่ทุกบริษัทที่ต้องการเปลี่ยนพื้นที่สำนักงานเสียใหม่ เธอมักจะบอกลูกค้าว่า ให้พิจารณาว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว และอะไรเป็นสิ่งที่ต้องปรับปรุง ก่อนที่จะเกิดการระบาดหนักของโควิด-19

Yvon Brunache, owner of Marcel Interiors, sprays surface sanitizer inside of Marcel Interiors office space to prevent the spread of coronavirus disease (COVID-19) in Apopka, Florida, U.S., July 3, 2020.

อย่างไรก็ตาม นักออกแบบให้สัมภาษณ์ว่า หลายบริษัทต้องการปรับปรุงพื้นที่ออฟฟิศเสียใหม่เพื่อทำให้พนักงานรู้สึกปลอดภัยและกระตือรือต้นที่จะมาทำงาน หลังจากที่ภาวะขาดแคลนแรงงาน ทำให้การจ้างพนักงานใหม่ในช่วงเวลานี้ทำได้ยากลำบากกว่าเดิม

ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ อายิโนะโมะโต๊ะ บริษัทอาหารและเภสัชกรรม ตัดสินใจรื้อผังสำนักงานใหญ่ประจำทวีปอเมริกาเหนือของบริษัท ซึ่งตั้งอยู่นอกเมืองชิคาโกเมื่อปีที่ผ่านมา

พนักงานของอายิโนะโมะโต๊ะ ได้กลับมาทำงานตั้งแต่เดือนพฤษภาคมในออฟฟิศที่ได้รับการออกแบบเสียใหม่ ที่มีทางเดินที่กว้างขึ้น มีกระจกกั้นระหว่างแต่ละคอกทำงาน และจัดสรรให้พนักงานมีพื้นที่ของตัวเองมากขึ้นเพื่อให้พวกเขารู้สึกปลอดภัยไกลจากโรค ในส่วนการดูแลเรื่องจิตใจ บริษัทอายิโนะโมะโต๊ะได้เปลี่ยนพื้นที่ทำงานส่วนหนึ่งให้เป็น “ห้องพักผ่อน” ในบรรยากาศคล้ายสปา มีเก้าอี้เอนนอนและเสียงเพลงเปิดคลอเบา ๆ

The wellness and relaxation room of Ajinomoto, a global food and pharmaceutical company in Itasca, Ill., is shown Monday, June 7, 2021.

อายิโนะโมะโต๊ะยังได้ติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในส่วนห้องครัวสำหรับทดลองอาหารของบริษัท ให้สามารถแสดงการสาธิตหรือการนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าที่ไม่ต้องการเดินทางเข้ามาในออฟฟิศ นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มพนักงานทำความสะอาดที่เข้ามาทำงานวันละสองครั้ง และเขียนข้อความบนกระดาษโน้ต ให้เห็นว่าพื้นที่ใดได้รับการทำความสะอาดฆ่าเชื้อแล้วบ้าง

ไรอัน สมิธ รองประธานอายิโนะโมะโต๊ะ สำนักงานทวีปอเมริกาเหนือ กล่าวว่าสิ่งที่บริษัททำอาจจะดูเกินความจำเป็นไปบ้าง แต่ขณะเดียวกันก็อาจจะช่วยสร้างความสบายใจให้กับคนที่ค่อนข้างจะอ่อนไหวหรือไม่ค่อยสะดวกใจกับการต้องเข้ามาทำงานในออฟฟิศ เขาประเมินว่าประมาณร้อยละ 40 ของพื้นที่สำนักงานใหญ่ของอายิโนะโมะโต๊ะเปลี่ยนไปเพราะโควิด-19

โชภา ซูรยา ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายโครงการและฝ่ายขายที่อายิโนะโมะโต๊ะ กล่าวว่าเธอรู้สึกตื่นตัว มีกำลังใจที่จะมาทำงานในออฟฟิศหลังจากที่มีการออกแบบใหม่ และยังรู้สึกตื่นเต้นที่ได้มานั่งทำงานข้าง ๆ เพื่อนร่วมงานของเธออีกครั้ง

ซูรยาไม่ใช่คนเดียวที่รู้สึกเช่นนั้น ผลการสำรวจหลายชิ้นพบว่าสิ่งที่พนักงานคิดถึงมากที่สุดในการทำงาน คือการได้มีปฏิสัมพันธ์และทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมกับเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ

Shobha Surya, associate manager for projects and sales operations of Ajinomoto, a global food and pharmaceutical company, works in a shared office space in Itasca, Ill., Monday, June 7, 2021.

ลิซ นิวแมน แห่งบริษัทสถาปนิก SmithGroup กล่าวว่า หลาย ๆ บริษัทกำลังพยายามกระตุ้นให้เพื่อนร่วมงานมีปฏิสัมพันธุ์ที่ดีต่อกัน โดยการสร้างจัดพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นศูนย์รวมของการสังสรรค์สำหรับพนักงาน บางบริษัทจำลองบรรยากาศร้านกาแฟ มีการปูพื้นไม้ มีบูธเบาะนวมให้นั่ง และใช้โคมไฟห้อยเพดาน เพื่อเป็นสิ่งดึงดูดพนักงานอย่างหนึ่ง

บริษัท Steelcase ในรัฐมิชิแกน ได้ใช้พื้นที่ล้อบบี้ส่วนหนึ่งของบริษัทให้เป็นห้องประชุมหลายขนาด มีการนำกระถางต้นไม้มาแบ่งกั้นพื้นที่ ทำให้จอทีวีสำหรับประชุมเคลื่อนย้ายไปมาได้สะดวก เพื่อให้พนักงานที่ทำงานจากบ้านได้มีส่วนร่วมในการประชุม

อย่างไรก็ตามหลังจากที่ทำงานจากบ้านเป็นเวลากว่าหนึ่งปี พนักงานบางคนรู้สึกว่าพวกเขาต้องการความเป็นส่วนตัวมากขึ้น บริษัท Steelcase จึงได้สร้างห้องที่คล้ายกับรังไหม มีความมิดชิด ให้พนักงานเอาไว้ใช้คุยโทรศัพท์มากขึ้น

มาร์ค ไบรอัน นักออกแบบภายในอาวุโสของ M+A Architects ในเมืองโคลัมบัส รัฐโอไฮโอ คาดการณ์ว่าพื้นที่สำนักงานในอนาคตจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยมีพื้นที่หลากหลายประเภทให้คนได้นั่งทำงานตามความพึงพอใจ คนที่ชอบอยู่คนเดียวหรือมีบุคลิกเก็บตัวอาจจะเลือกนั่งในห้องทำงานขนาดเล็ก หรือห้องทำงานส่วนตัว ในขณะที่คนที่ชอบเข้าสังคม อาจจะเลือกนั่งที่โต๊ะทำงานในส่วนคาเฟ่ของออฟฟิศ เป็นต้น

EricssonÕs cafeteria, with social distancing signage to prevent the spread of the coronavirus disease (COVID-19), is seen at its office in West Gate Business Park in Bucharest, Romania, in this July 30, 2020 handout image.

บางบริษัทยังให้พนักงานทำงานแบบผสม หรือ ไฮบริด อยู่ เช่น บริษัท Valiant Technologies ในนิวยอร์ก ที่อนุญาตให้พนักงานทำงานจากบ้านเสียเป็นส่วนใหญ่ และให้พวกเขาทำเรื่องจองโต๊ะในวันที่ต้องการเข้ามาทำงานในออฟฟิศ บริษัทได้นำเอาโต๊ะทำงานออกไปหลายแถว เพื่อเพิ่มพื้นที่ระหว่างแต่ละโต๊ะทำงานให้มากขึ้น ส่วนพนักงานเมื่อเลิกงานแล้วสามารถนำเอาคีย์บอร์ด เมาส์ และหูฟังของตัวเองไปเก็บไว้ในล็อกเกอร์ได้ซึ่งพนักงานอย่าง เมแกน ควิก กล่าวว่าเธอรู้สึกยินดีที่บริษัทช่วยทำให้เธอปรับตัวกับการกลับมาทำงานในออฟฟิศตั้งแต่เดือนมิถุนายนได้อย่างง่ายดายและปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม การออกแบบพื้นที่สำนักงานใหม่นั้น ใช่ว่าจะดีไปเสียหมด บางบริษัทแยกโต๊ะทำงานให้ห่างกันมากขึ้น เพื่อให้พนักงานรู้สึกปลอดภัย แต่กลับทำให้หลายคนรู้สึกโดดเดี่ยวและหดหู่ จนทำให้ต้องมีการปรับพื้นที่ใหม่อีกครั้ง

บางบริษัทจึงได้เรียนรู้ว่า ถึงแม้ว่าการสร้างความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญ แต่พื้นที่ในออฟฟิศควรจะสร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานด้วยเช่นกัน

ที่มา: Associated Press