Your browser doesn’t support HTML5
วิกฤติการณ์หนึ่งที่ประธานาธิบดีสหรัฐกำลังเผชิญหน้าเวลานี้ คือ ปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในประเทศซีเรีย โดยผ่านการจัดตั้งพันธมิตร 4 ประเทศ ประกอบไปด้วยอิหร่าน อิรัค ซีเรีย และรัสเซีย
เป้าหมายการโจมตีของรัสเซีย ตามที่ประกาศไว้คือกลุ่มรัฐอิสลาม (Islamic State หรือ IS) และกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลซีเรีย ซึ่งมีบางกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนทางอาวุธและการเงินจากซาอุดิ อเรเบีย Qatar และสหรัฐ
รัสเซียเริ่มปฏิบัติการทางทหารของตนกลางสัปดาห์ที่แล้ว โดยส่งเครื่องบินรบขึ้นโจมตี และยิงจรวดรัศมีทำการระยะไกลจากเรือรบที่จอดอยู่ในทะเลแคสเปียน เข้าสู่เป้าหมายอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีรายงานที่กล่าวว่า ทางการรัสเซียจะส่งทหารราบเข้าปฏิบัติการภาคพื้นดินในซีเรียระหว่าง 150,000 – 200,000 คนด้วย
สมาชิกรัฐสภาสหรัฐหลายราย โดยเฉพาะผู้ที่สังกัดพรรค Republican อย่างเช่น ส.ว. John McCain และส.ว. Mitch McConnell ผู้คุมเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐ ได้ออกมากล่าวตำหนิวิพากษ์ประธานาธิบดี Barack Obama และนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลชุดนี้ว่า ไม่ได้ผลและไม่ประสบความสำเร็จในการปราบปรามการก่อการร้าย ทำให้ประเทศมหาอำนาจ เช่น จีน รัสเซียและอิหร่านกลับมาใฝ่ฝันถึงการสร้างจักรวรรดิขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง
แต่นักวิชาการ Stephen Wayne ที่มหาวิทยาลัย Georgetown ในกรุงวอชิงตันให้ความเห็นว่า ประธานาธิบดี Obama เป็นผู้บริหารที่ทำงานอย่างมีเหตุมีผล มีการตัดสินใจที่มีพื้นฐานมาจากการศึกษาข้อมูล และการวิเคราะห์อย่างรอบคอบ เพราะฉะนั้นปฏิกิริยาตอบโต้ของรัฐบาลชุดนี้ จึงมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่กระโดดเข้าใส่
อาจารย์ Stephen Wayne ให้ความเห็นต่อไปว่า เหตุการณ์ในซีเรียที่กำลังเป็นอยู่นี้ ไม่ใช่ความผิดของประธานาธิบดี เพราะตามระบอบประชาธิปไตย ผู้ปกครองประเทศจะดำเนินการไม่ได้ ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน
นักวิชาการผู้นี้ยกตัวอย่างเรื่องที่ประธานาธิบดี Obama กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ ว่าจะโจมตีซีเรียทางอากาศ ถ้าผู้นำของซีเรียไม่ยุติการใช้อาวุธสารเคมีทำร้ายประชาชนของตน
และแม้ผู้นำซีเรียไม่เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ประธานาธิบดี Obama กลับตัดสินใจไม่โจมตีเพราะเห็นผลการสำรวจความคิดเห็นของคนอเมริกันที่ชี้ว่า ไม่สนับสนุนปฏิบัติการทางทหารในเรื่องนั้น
อาจารย์ Matthew Dallek ของมหาวิทยาลัย George Washington ในกรุง Washington กล่าวถึงกรณีที่ประธานาธิบดี Bill Clinton ถูกตำหนิว่าตัดสินใจล่าช้าในการตอบโต้โจมตีทหารของ Serbia ที่สังหารล้างผลาญเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมใน Kosovo ตอนปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 มาเป็นตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่งของการปฏิบัติหน้าที่ผู้นำประเทศ
ซึ่งชี้ให้เห็นว่าไม่ว่าจะเป็นวิกฤติการณ์ใดก็ตาม การตัดสินใจของผู้นำประเทศต่อวิกฤติการณ์ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้าน รวมทั้งการรายงานของสื่อ การสนับสนุนจากประชาชน หรือว่าวิกฤติการณ์นั้นๆ มีความสำคัญมากน้อยแค่ไหนต่อตัวผู้นำประเทศเองด้วย
(รายงานจากห้องข่าววีโอเอ / เรียบเรียงโดยนิตยา มาพึ่งพงศ์)