นิวยอร์กพิจารณาเก็บค่าธรรมเนียมรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษและทำให้จราจรแออัด

In this March 28, 2019 photo, traffic makes its way into Manhattan from Brooklyn over the Williamsburg Bridge in New York. A congestion toll that would charge drivers to enter New York City's central business district is a first for an American city. Sta

Your browser doesn’t support HTML5

NY Pollution Charge

อีกไม่นาน ผู้ขับขี่รถยนต์ที่เดินทางสู่ใจกลางเขตแมนฮัตตันของนครนิวยอร์กอาจต้องจ่ายเงินค่าธรรมเนียมสำหรับการปล่อยมลพิษและการทำให้การจราจรติดขัด

การเก็บค่าธรรมเนียมความแออัดเป็นวิธีที่เมืองหรือประเทศต่างๆ เช่น กรุงสตอกโฮล์มและสิงคโปร์ใช้เพื่อพยายามลดปริมาณจราจรบนท้องถนนและทำให้อากาศบริสุทธิ์ โดยกำหนดให้ผู้ขับขี่เสียค่าใช้จ่ายแพงขึ้นหากนำรถที่ปล่อยมลภาวะมาใช้ในเมือง

จากการจราจรที่ติดขัดซึ่งทำให้รถบนท้องถนนตามเมืองต่างๆ ต้องหยุดนิ่งอยู่กับที่ มลพิษทางอากาศที่คร่าชีวิตผู้คนไปประมาณปีละ 4 ล้านคน และความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความสนใจในการหาวิธีลดมลภาวะจากระบบขนส่งทั่วโลกเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

นโยบายดังกล่าวนี้มักใช้ด้วยการกำหนดกรอบรอบย่านธุรกิจใจกลางเมืองและเก็บเงินยานพาหนะที่เข้าออกบริเวณดังกล่าว แต่นอกเหนือจากการเก็บค่าธรรมเนียมความแออัดแล้ว บางเมืองยังเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมตามระดับมลพิษของรถแต่ละรุ่นอีกด้วย

ที่กรุงลอนดอน มีการติดตามยานพาหนะด้วยเครือข่ายกล้องที่สามารถถ่ายภาพป้ายทะเบียน ส่วนที่เมืองอื่นๆ รถยนต์จะมีป้ายซึ่งส่งสัญญานอิเล็กทรอนิกส์ให้บันทึกได้ บางเมืองใช้วิธีห้ามรถวิ่งในบางวันตามหมายเลขป้ายทะเบียนแทนที่จะใช้วิธีระบุยานพาหนะแต่ละคัน

ส่วนนครนิวยอร์กได้เริ่มจัดการประชุมประชาพิจารณ์เพื่อจัดทำแผนกำหนดค่าธรรมเนียมความแออัด ซึ่งจะเป็นเมืองใหญ่แห่งแรกในสหรัฐฯ ที่ใช้นโยบายนี้

ภายใต้แผนปัจจุบัน ผู้ขับขี่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายระหว่าง 9 ถึง 23 ดอลลาร์สำหรับการขับรถที่มีผู้โดยสารมาด้วยในพื้นที่ด้านใต้ของสวนสาธารณะเซ็นทรัลพาร์ค แต่ก็มีข้อยกเว้นในบางกรณี และเงินที่ถูกเรียกเก็บมาจากผู้ขับขี่นั้นทางการจะนำไปใช้เพื่อปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนของเมือง

Matthew Gibson นักเศรษฐศาสตร์จาก Williams College กล่าวว่าแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังการกำหนดค่าธรรมเนียมความแออัดคือการทำให้ผู้คนต้องจ่ายเงินสำหรับสิ่งที่พวกเขามักจะคิดว่าไม่มีต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายใดๆ แต่ที่จริงๆ มักมีค่าใช้จ่ายแฝงอยู่ เช่นเวลาที่ผู้คนตัดสินใจเดินทางระยะทางหนึ่งไมล์บนถนนสาธารณะที่ไม่ต้องเสียเงิน คนเหล่านี้มักไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดต่อคนอื่นๆ ในสังคมในรูปของความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุ มลพิษทางอากาศ ตลอดจนความแออัดของการจราจร เป็นต้น

การเก็บค่าธรรมเนียมความแออัดจะทำให้มีค่าใช้จ่ายดังกล่าว และหากราคาที่ผู้ขับขี่ต้องจ่ายนั้นสูงพอ พวกเขาก็จะมองหาทางเลือกอื่นๆ เช่น การขนส่งสาธารณะ การโดยสารรถไปกับคนอื่น การใช้จักรยาน หรือการเดิน เป็นต้น

การศึกษาพบว่าการกำหนดราคาความแออัดนั้นมักได้ผลดีเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ต้องมีการพัฒนาปรับปรุงเป็นระยะๆ

ตัวอย่างเช่น ในปี 2008 นครมิลานเริ่มเรียกเก็บค่าธรรมเนียมยานพาหนะที่มีมลพิษสูงซึ่งเดินทางเข้าไปในย่านธุรกิจใจกลางเมือง วิธีนี้ใช้ได้ผลทำให้การจราจรคลี่คลายไปชั่วขณะหนึ่ง และบรรดาผู้ขับขี่ก็ปฏิบัติตามนโยบายต่างๆ ที่กำหนดไว้ เช่นเปลี่ยนจากการใช้รถเก่าที่สร้างมลภาวะ ไปใช้รถคันใหม่ที่สะอาดขึ้น แต่เมื่อพวกเขานำรถใหม่กลับมาใช้บนถนนอีกครั้งการจราจรก็กลับมาแออัดเหมือนเดิม ดังนั้นในปี 2012 นครมิลานจึงเก็บค่าธรรมเนียมความแออัดจากยานพาหนะทุกคัน

นักวิจัยพบว่าการเก็บค่าธรรมเนียมความแออัดช่วยลดการจราจรลงได้ 14.5 เปอร์เซนต์และลดมลพิษทางอากาศลงได้ระหว่าง 6 – 17 เปอร์เซนต์

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการเก็บค่าธรรมเนียมความแออัดและจากการปล่อยมลพิษไม่ได้ช่วยให้อากาศดีขึ้นเสมอไป เพราะบางครั้งแหล่งกำเนิดมลพิษอื่นๆ เช่น โรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหรืออุตสาหกรรมหนักๆ ล้วนก่อให้เกิดมลพิษมากกว่ายานพาหนะ และบางครั้ง มาตรการอื่นๆ เช่น การเพิ่มมาตรฐานด้านประสิทธิภาพของเครื่องยนต์และการใช้เชื้อเพลิงของยานพาหนะก็อาจช่วยได้เช่นกัน

ผลการศึกษาพบว่า สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือการเก็บค่าธรรมเนียมความแออัดและการปล่อยมลพิษช่วยให้ถนนหนทางโล่งขึ้น อย่างเช่นที่มิลาน Edoardo Croci นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Bocconi University กล่าวว่า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในทันทีและชัดเจนจนสังเกตเห็นได้ก็คือความแออัดของการจราจรที่ลดลง และผลลัพธ์ดังกล่าวนี้ก็ทำให้ให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกที่จะปฏิบัติตามนโยบาย แม้ว่าส่วนใหญ่จะไม่เห็นด้วยกับนโยบายเหล่านี้ในตอนแรกก็ตาม