ประธานาธิบดี Barack Obama กล่าวไว้เมื่อการประชุมสุดยอดด้านความมั่นคงทางนิวเคลียร์ครั้งแรกที่กรุงวอชิงตันเมื่อปีที่แล้วว่า หลังจากสงครามเย็นสิ้นสุดลงเมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว แม้ความเสี่ยงที่เกิดจากการเผชิญหน้าของประเทศที่มีนิวเคลียร์ในครอบครองได้ลดลง แต่ความเสี่ยงจากการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์กลับเพิ่มขึ้น
ความพยายามป้องกันไม่ให้อาวุธนิวเคลียร์ตกอยู่ในมือของผู้ก่อการร้ายคือประเด็นสำคัญในการประชุมสุดยอดด้านนิวเคลียร์ ซึ่งคุณ Joseph Cirincione แห่งมูลนิธิ Ploughshares ชี้ว่าภัยคุกคามที่รัฐบาลสหรัฐหวาดกลัวที่สุดคือการที่ผู้ก่อการร้ายมีระเบิดนิวเคลียร์ในครอบครองและก่อเหตุลักษณะเดียวกับเหตุการณ์โจมตีเมื่อวันที่ 11 กันยายน ปี 2001
ก่อนการประชุมสุดยอดด้านความมั่นคงทางนิวเคลียร์ครั้งที่ 2 ที่กรุงโซลในวันอังคารนี้ รัฐบาลเกาหลีเหนือได้ออกมาประณามการประชุมครั้งนี้ว่าเป็นอาชญากรรมที่ไม่อาจให้อภัยได้และถือเป็นการยั่วยุเกาหลีเหนืออย่างร้ายแรง พร้อมเตือนไม่ให้ที่ประชุมยกประเด็นเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือมาหารือ ไม่เช่นนั้นเกาหลีเหนือจะถือว่าเป็นการประกาศสงคราม
อย่างไรก็ตาม คุณ Alexandra Toma ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Fissile Materials Working Group ชี้ว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่พูดถึงโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือในการประชุมครั้งนี้ แม้เรื่องเกาหลีเหนือจะไม่ใช่ประเด็นหลักในการประชุมก็ตาม โดยสิ่งที่นักวิเคราะห์ผู้นี้และผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆเชื่อว่าสำคัญยิ่งกว่าเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือสำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน คือเรื่องความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลังจากเหตุการณ์กัมมันตภาพรังสีรั่วไหลที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิม่าในญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว
คุณ Kenneth Luongo ประธานสมาพันธ์ความร่วมมือเพื่อความมั่นคงของโลกกล่าวไว้ที่การประชุมด้านนิวเคลียร์ครั้งที่แล้วว่า เหตุการณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิม่าแสดงให้เห็นแล้วว่ายังมีเรื่องต้องทำอีกมากเพื่อพัฒนามาตรฐานการรักษาความปลอดภัยสำหรับพลังงานนิวเคลียร์แม้แต่ในประเทศพัฒนาแล้ว
คุณ Kenneth Luongo ชี้ว่าขณะนี้ประเทศต่างๆยังไม่มีระบบที่เหมาะสมในการรับมืออันตรายจากกัมมันตภาพรังสีที่รั่วไหลจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากหากกัมมันตภาพรังสีนั้นรั่วไหลข้ามอาณาเขตเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้าน