UN เผยรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนและทารุณกรรมนักโทษในเกาหลีเหนือ ซึ่งเข้าข่ายการสังหารหมู่

  • Daniel Schearf

Your browser doesn’t support HTML5

UN เผยรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนและทารุณกรรมนักโทษในเกาหลีเหนือ

รายงานของสหประชาชาติที่เปิดเผยในวันจันทร์ ประณามผู้นำรัฐบาลเกาหลีเหนือเรื่องปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งนำไปสู่การก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษย์ ขณะที่บรรดานักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนต่างแสดงความยินดีต่อรายงานของสหประชาชาติชิ้นนี้ แต่ก็ยังไม่เชื่อว่าจะสามารถดำเนินคดีกับผู้นำเกาหลีเหนือได้ในอนาคตอันใกล้

คณะกรรมการสืบสวนของสหประชาชาติชี้ว่า ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือนั้นเกิดขึ้นในวงกว้างและเป็นระบบ โดยเชื่อว่ามีเป้าหมายเพื่อรักษาอำนาจทางการเมืองของผู้นำรัฐบาล คณะกรรมการชุดนี้ยังระบุด้วยว่า ผู้นำเกาหลีเหนือมีความผิดฐานก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษย์ และควรถูกนำตัวไปดำเนินคดีที่ศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ

รายงานของสหประชาชาติที่ได้รับการเปิดเผยในวันจันทร์ ระบุถึงการกระทำทารุณต่อผู้ที่ถูกคุมขังอยู่ในเกาหลีเหนือ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเชื่อแตกต่างทางศาสนา หรือศัตรูทางการเมือง ทั้งการประหารชีวิต ข่มขืน ทารุณกรรม บังคับให้ทำแท้ง และนำตัวไปเป็นทาส ซึ่งรายงานคาดว่ามีจำนวนถึง 120,000 คนที่ถูกคุมขังอยู่ตามค่ายกักกันต่างๆ ทั่วประเทศ

คุณ Lee Jung-hoon ผู้แทนด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลเกาหลีใต้ กล่าวว่ารายงานของสหประชาชาติชิ้นนี้ ถือเป็นชิ้นแรกที่มีหลักฐานซึ่งถูกต้องตามกฏหมายและเชื่อถือได้ เกี่ยวกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือ และในรายงานชิ้นนี้ได้มีการระบุชัดเจนว่า การก่ออาชญากรรมในเกาหลีเหนือนั้นจัดได้ว่าเป็นการสังหารหมู่ ซึ่งหมายความว่าสามารถฟ้องร้องเอาผิดต่อบรรดาผู้นำเกาหลีเหนือ รวมถึงนาย Kim Jong Un และยังถือเป็นความผิดร้ายแรงที่ไม่มีการลดหย่อน หมายความว่าหากเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้รวมตัวกันได้ในอีก 10 หรือ 50 ปีข้างหน้า ผู้นำเกาหลีเหนือก็จะยังต้องถูกนำตัวมาลงโทษ

รายงานของสหประชาชาติชิ้นนี้พิจารณาข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมและการสัมภาษณ์พยานกว่า 80 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวเกาหลีเหนือที่หลบหนีออกมาจากค่ายกักกันและข้ามพรมแดนไปลี้ภัยอยู่ในจีน โดยที่ผ่านมารัฐบาลเกาหลีเหนือปฏิเสธที่จะให้ผู้แทนของสหประชาชาติเข้าไปตรวจสอบ และปฏิเสธรายงานเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนว่าเป็นความพยายามบ่อนทำลายรัฐบาลกรุงเปียงยาง

สำหรับการนำตัวผู้นำเกาหลีเหนือมาดำเนินคดีนั้น นักวิเคราะห์เชื่อว่าคงจะเป็นเรื่องยาก เนื่องจากจีนซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของเกาหลีเหนือและเป็นหนึ่งในสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ มีอำนาจวีโต้คำสั่งของสหประชาชาติ โดยท่าทีที่ผ่านมาของจีนนั้นดูเหมือนจะไม่สนับสนุนให้ผู้แทนของสหประชาชาติเข้าไปตรวจสอบในเกาหลีเหนือเช่นกัน

ถึงกระนั้น คุณ Lilian Lee แห่งกลุ่ม Citizen Alliance for North Korea Human Rights ยังคงมองว่ามีความเป็นไปได้ในการดำเนินคดีกับผู้นำเกาหลีเหนือ โดยเธอบอกว่าไม่สามารถตัดกระบวนการทางกฏหมายใดๆออกไปได้ เพียงเพราะประเทศใดประเทศหนึ่งไม่เห็นด้วย และว่าการดำเนินคดีกับผู้นำเกาหลีเหนือนั้นไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นทันทีทันใด แต่อาจต้องใช้เวลาหลายปี

รายงานของสหประชาชาติชิ้นนี้จะถูกนำเสนออย่างเป็นทางการต่อสภาวิทธิมนุษยชนสหประชาชาติในวันที่ 17 มี.ค

รายงานจาก Daniel Schearf / เรียบเรียงโดย Songphot Suphaphon